Digital Transformation สิ่งที่ทุกองค์กรต้องทำเพื่อความอยู่รอด

Digital Transformation สิ่งที่ทุกองค์กรต้องทำเพื่อความอยู่รอด

01 June 2023
Digital Transformation

Digital Transformation เป็นคำที่องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกและในประเทศไทยเริ่มรับรู้และตระหนักอย่างจริงจังในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่รายงานโดย McKinsey ในปี ค.ศ. 2017 ว่ามีองค์กรเพียง 40% ในภาคธุรกิจโดยรวมที่เข้าสู่ความเป็นดิจิทัลอย่างเต็มตัว มาจนถึงทุกวันนี้ในยุคหลังโควิด-19 (post-pandemic/new normal era) เราแทบจะนึกไม่ออกแล้วว่า มีองค์กรใดบ้างที่ยังไม่ได้เข้าสู่ความเป็นดิจิทัลทางใดทางหนึ่งแล้วยังอยู่รอดได้

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าทุกองค์กรจะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลได้อย่างประสบความสำเร็จ บางองค์กรโอบรับเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพร้อมกันหลายชิ้น แต่กลับเป็นเทคโนโลยีที่ไม่เชื่อมโยงกัน บางองค์กรพยายามบังคับให้คนในองค์กรต้องปรับวิถีการทำงานผ่านเทคโนโลยีชิ้นใหม่ แต่ทำได้ไม่นาน พนักงานก็กลับมาทำงานตามวิถีเดิม ทำให้องค์กรเสียทรัพยากรและค่าใช้จ่ายสูญเปล่ามหาศาล

หลาย ๆ ท่านคงจะสงสัยกันแล้วว่า

  • ทำไม Digital Transformation ถึงทำยาก?
  • ข้อผิดพลาดที่มักเกิดขึ้น (Common Mistakes) ในหลาย ๆ องค์กรคืออะไร? 
  • แล้วองค์กรหนึ่งจะก้าวข้ามข้อผิดพลาดเหล่านั้นได้อย่างไร?

ในบทความนี้ ผมจะพาท่านผู้อ่านมาลองศึกษาและตอบคำถามเหล่านี้กันครับ

วิวัตนาการ 3 ขั้นตอน สู่ Digital Transformation

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า กว่าองค์กรหนึ่งจะทำ Digital Transformation ได้นั้นจริง ๆ แล้วจะต้องผ่านวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีสามขั้นตอน คือ Digitization, Digitalization, และตามท้ายด้วย Digital Transformation

Digitization คือ การแปลงข้อมูลแบบแอนะล็อก (analog) เป็นข้อมูลแบบดิจิทัล (digital) ตัวอย่างคลาสสิกคือการสแกนเอกสารกระดาษเป็นเอกสารดิจิทัล เก็บในรูปแบบไฟล์ในระบบคอมพิวเตอร์ ลดความจำเป็นในการใช้ตู้เก็บเอกสาร ลดความเสี่ยงจากความเสียหายของข้อมูลในกรณีที่เอกสารเริ่มเก่า ขาด หรือเปียกน้ำ อีกตัวอย่างหนึ่งคือการใช้ word processor อย่าง Microsoft Word ในการสร้างเอกสารดิจิทัล แทนการสร้างเอกสารด้วยเครื่องพิมพ์ดีด

Digitalization เป็นขั้นกว่าของ Digitization ซึ่งหมายถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อทำสิ่งที่องค์กรทำได้อยู่แล้ว แต่ทำได้ดี เร็ว หรือประหยัดทรัพยากรได้มากกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่น การค้นหาข้อมูลจากเอกสาร ถ้าเป็นเอกสารกระดาษ องค์กรต้องใช้คนเปิดตู้เอกสารแล้วไล่ดูทีละแฟ้มจนเจอข้อมูลที่ต้องการ แต่การนำเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างคอมพิวเตอร์มาใช้นั้น คอมพิวเตอร์จะสามารถค้นหาเอกสารที่ต้องการได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว ผ่านการพิมพ์คำค้นหาไม่กี่คำ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการจัดเรียง (indexing and sorting) ไฟล์ดิจิทัลบนเครื่องคอมพิวเตอร์ และที่สำคัญคือ ประหยัดทรัพยากรมนุษย์อีกด้วย

จะสังเกตได้ว่า Digitization และ Digitalization ไม่ได้ทำให้ธุรกิจหรือองค์กรสามารถทำอะไรใหม่ ๆ ได้มากกว่าเดิม เอกสารข้อมูลก็ยังคงมีอยู่ การค้นหาเอกสารก็ยังทำได้เหมือนเดิม แต่สามารถทำได้ดีขึ้น รวดเร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น

Digital Transformation คือการเปลี่ยนแปลงขั้นสูงทางดิจิทัลสำหรับองค์กร ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสร้างนวัตกรรมใหม่ เปลี่ยนวิถีการทำธุรกิจหรือธุรกรรมไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง และสร้างคุณค่า (value) ให้กับลูกค้าหรือผู้ใช้งานในทุกโอกาส (นิยามโดย Salesforce) โดยเริ่มจากการตั้งคำถามว่า “เราจะพลิกโฉมธุรกิจและกระบวนงานของเราได้อย่างไร ให้องค์กรก้าวไปสู่ขั้นกว่าของการตัดสินใจที่ดีขึ้น ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น และประสบการณ์ของลูกค้าและผู้ใช้งานที่ตรงใจมากขึ้น?”

Digital Transformation เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสร้างนวัตกรรมใหม่ เปลี่ยนวิถีการทำธุรกิจหรือธุรกรรมไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง และสร้างคุณค่า (value) ให้กับลูกค้าหรือผู้ใช้งานในทุกโอกาส

หากเรามองย้อนกลับไปที่ตัวอย่างของการจัดเก็บเอกสาร หากเราผนวก word processor ผนวกกับเทคโนโลยีคลาวด์ และ smartphones ทำให้พนักงานภายในองค์กรสามารถ (1) แก้ไขเอกสารได้ทันที, (2) เข้าถึงเอกสารจากที่ไหนก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปออฟฟิศ, (3) สามารถใช้งาน collaboration feature เพื่อจัดทำเอกสารร่วมกับเพื่อนร่วมงานได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นขีดความสามารถ (capabilities) ใหม่ ๆ ที่องค์กรไม่เคยทำได้มาก่อนด้วยเทคโนโลยีเดิม ๆ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพภายในองค์กรได้อย่างไม่เคยมีมาก่อน

Netflix เป็นตัวอย่างคลาสสิกขององค์กรที่ผ่านกระบวนการ Digital Transformation สู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ที่ครองตลาด Streaming ในปัจจุบัน

อีกตัวอย่างที่คลาสสิกมาก คือ กรณีศึกษาของ Netflix ที่ผันตนเองจากเดิมที่เคยเป็นผู้ให้บริการเช่าวิดีโอ มาเป็นผู้ให้บริการความบันเทิงผ่านช่องทาง streaming ซึ่งสอดคล้องกับเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ในวงการมากขึ้น ซึ่ง Digital Transformation ของ Netflix ทำให้เกิดประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมกับผู้ใช้งานที่เทคโนโลยีเดิมไม่สามารถทำได้มาก่อน นั่นคือ ระบบการแนะนำสิ่งที่ตรงใจผู้ใช้งาน หรือ recommender system ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลด้านความชอบและพฤติกรรมการดูหนังของผู้ใช้งานที่ถูกจัดเก็บในรูปแบบดิจิทัล (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับนวัตกรรมดิจิทัลของ Netflix ได้ที่นี่) และประสบการณ์ที่ดีกว่าอย่างไม่เคยมีมาก่อนนี้ ทำให้ Netflix เข้ามาสร้างความสั่นสะเทือน (disruption) ในธุรกิจสื่อและความบันเทิงที่มีอยู่เดิม และแน่นอนว่า องค์กรที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันก็จะไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่ออย่างยั่งยืน

Digital Transformation สามารถทำให้องค์กรหรือบริษัทหนึ่งสร้างความสั่นสะเทือน (disruption) ในวงการธุรกิจที่มีอยู่เดิม และแน่นอนว่า องค์กรที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันก็จะไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่ออย่างยั่งยืน

มากกว่าการพัฒนาศักยภาพ Digital Transformation คือหนทางรอด

จากนิยามความหมายของ Digital Transformation ข้างต้น เราพอจะเห็นภาพว่าทำไม Digital Transformation ถึงสำคัญ นั่นเป็นเพราะ Digital Transformation เป็นมากกว่าการแค่ทำให้องค์กรขึ้นพัฒนาศักยภาพตนเองให้ดีขึ้น แต่หลาย ๆ ครั้ง มันหมายถึง หนทางรอด ของธุรกิจนั้น ๆ เพราะถ้าองค์กรหรือบริษัทหนึ่ง ๆ ไม่วิวัฒนาการตนเองผ่าน disruption ในไม่ช้าก็จะต้องถูกองค์กรหรือบริษัทอื่น disrupt อยู่ดี

นอกจากนี้แล้ว ผู้คนทั้งบุคลากรภายในองค์กรและบุคคลภายนอกที่ทำธุรกรรมกับองค์กรยุคใหม่ล้วนมีความคาดหวังที่สูงขึ้นจากความสะดวกสบายที่เทคโนโลยีดิจิทัลจะนำเสนอประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าและผู้ใช้งานได้ ไม่ว่าจะเป็น

  • ประสบการณ์ที่เราในฐานะลูกค้าอยากจะสอบถามรายละเอียดสินค้าผ่าน online chat เมื่อใดก็ได้
  • การดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านมือถือแทนที่จะต้องเดินทางไปที่สาขา หรือ
  • ถ้าต้องทำธุรกรรมที่สาขาก็สามารถใช้ประโยชน์จากการเชื่อมต่อผ่านช่องทางดิจิทัลทำให้ทำธุรกรรมได้ง่าย ตรงใจ และรวดเร็ว

และความคาดหวังที่สูงเหล่านี้สามารถถูกตีมูลค่าออกมาเป็นตัวเงินได้อีกด้วย ผลการวิจัยโดย Isobar ค.ศ. 2017 ได้ทำการศึกษาบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกากว่า 1,000 บริษัท และค้นพบความสัมพันธ์ (correlation) ระหว่าง “ความมีศักยภาพทางดิจิทัล” ของบริษัทและราคาหุ้นของบริษัทในระยะยาวซึ่ง “ความมีศักยภาพทางดิจิทัล” นี้ถูกวัดโดยการพิจารณาจากองค์ประกอบต่าง ๆ เช่น ความเป็นที่รู้จักของแบรนด์ผ่านช่องทางดิจิทัล สัดส่วนรายได้ที่มาจากช่องทางดิจิทัล เป็นต้น

ทำไม Digital Transformation ถึงทำยาก?

การที่หลาย ๆ องค์กรก็ยังไม่สามารถทำ Digital Transformation ได้เป็นผลสำเร็จ อุปสรรคและข้อผิดพลาดที่มักเกิดขึ้น (Common Mistakes) สามารถแบ่งหลัก ๆ ได้เป็นกรณีดังนี้:

  1. ขาดแผนงานองค์รวมและการบริหารจัดการโครงการ Digital Transformation ที่ไม่เชื่อมโยงกันทั้งองค์กร
  2. ไม่ได้รับความร่วมมือจากบุคลากรภายในองค์กร
  3. ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้ถูกผลักดันอย่างต่อเนื่องจากผู้บริหารสู่พนักงาน
รูปภาพจากงานเสวนาในหัวข้อ Digital Transformation – Disrupt Yourself First แสดงถึงกรอบความคิดภายในองค์กรที่อาจเป็นอุปสรรคต่อกลยุทธ์ Digital Transformation
โดยคุณปาจรีย์ แสงคำ
รูปภาพจากงานเสวนาในหัวข้อ Digital Transformation – Disrupt Yourself First แสดงถึงสาเหตุที่กลยุทธ์ Digital Transformation ไม่ได้รับความร่วมมือจากบุคลากรในองค์กร
โดยคุณปาจรีย์ แสงคำ

ในงานสัมมนา Big Data Leadership Summit 2021 คุณปาจรีย์ แสงคำ Head of Digitization จากโอสถสภา ผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Transformation ได้กล่าวไว้ว่า อุปสรรคในการทำ Digital Transformation ที่สำคัญที่สุดไม่ใช่เรื่องทางเทคนิคหรือตัวเทคโนโลยีที่ใช้ แต่เป็นเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลในองค์กร การปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความเชื่อ และอุปนิสัยที่บุคลากรภายในองค์กรอาจคุ้นชินกับวิธีการทำงานแบบเดิม ๆ ที่ได้ผลอยู่แล้ว ประกอบกับผลเสียที่อาจเกิดขึ้นหากมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานแล้วเกิดข้อผิดพลาด ทำให้บุคลากรภายในองค์กรอาจมีกรอบความคิด (mindset) ที่ว่า “if it ain’t broke, don’t fix it.” (อย่าไปเปลี่ยนอะไรที่มันยังไม่เสีย) ซึ่งอาจรักษาเสถียรภาพขององค์กรโดยรวมไว้ได้ แต่ชุดวิธีคิดเช่นนี้กลับกลายเป็นอุปสรรคต่อวิวัฒนาการขององค์กรสู่ความเป็นดิจิทัล

คุณปาจรีย์ แสงคำ Head of Digitization จากโอสถสภา ผู้เชี่ยวชาญที่ได้ให้เกียรติบรรยายหัวข้อ “Digital Transformation: Disrupt Yourself First” ในงานสัมมนา Big Data Leadership Summit 2021

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม วิถีการปฏิบัติงาน และทัศนคติต่อการทำงานภายในองค์กรสู่ Digital Transformation

คุณปาจรีย์ได้ให้ข้อแนะนำในหลักการเปลี่ยนพฤติกรรม วิถีการปฏิบัติงาน และทัศนคติต่อการทำงานภายในองค์กร สู่การขับเคลื่อนด้วย Digital Transformation ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงคนทั้งองค์กรพร้อม ๆ กัน แต่ให้เลือก influencers ภายในองค์กรที่สามารถเป็นผู้นำในการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ มาเริ่มปรับ behavior and mindset ของคนกลุ่มนี้ให้สำเร็จก่อนที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับ critical mass ตัวอย่างเช่น การเลือกพนักงานองค์กรระดับ middle-level management ขึ้นไป มานำร่องการเปลี่ยนพฤติกรรม และทัศนคติที่ส่งเสริมกลยุทธ์ Digital Transformation
  2. เริ่มจากการให้ความสำคัญโดยผู้บริหารระดับสูง และมองปัญหาเป็นความท้าทายด้านการบริหารบุคลากรมากกว่าความท้าทายเชิงเทคนิค ซึ่งการจัดระเบียบความสำคัญนี้จะทำให้องค์กรหลีกเลี่ยงการจัดซื้อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาก่อนการสร้างทัศนคติและความเข้าใจใน Digital Transformation ซึ่งอาจช่วยประหยัดเวลาและทรัพยากรขององค์กร
  3. เน้นการปรับกรอบความคิด (mindset) เพื่อขับเคลื่อนประสิทธิผลขององค์กร (business outcome) หลาย ๆ องค์กรอาจจะใช้การตั้ง KPI เพื่อผลักดัน (หรือบังคับ) ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ประกอบกับการลงทุนด้านการสร้างทักษะและองค์ความรู้มหาศาล แต่กลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนกรอบความคิด (mindset) ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จากภายในตัวพนักงานเอง คุณปาจรีย์ได้นำเสนอว่ากระบวนการดังกล่าวควรจะกลับกัน กล่าวคือ ให้การปลูกฝังค่านิยมและกรอบความคิดจากภายในตัวพนักงาน ขับเคลื่อนสู่การขวนขวายหาความรู้และพัฒนาบุคลากรรายบุคคลเอง สู่ประสิทธิผลที่มองเห็นได้จากภายนอก
รูปภาพแนวทางการปรับพฤติกรรมและชุดความคิดภายในองค์กร สามเหลี่ยมสีเทาแสดงถึงแนวความคิดเดิมที่เน้น KPI ในการกระตุ้นประสิทธิผล และสามเหลี่ยมสีส้มแสดงถึงแนวความคิดใหม่ที่เน้นการปลูกฝังชุดความคิดเพื่อขับเคลื่อนประสิทธิผลจากภายในตัวบุคลากร
โดยคุณปาจรีย์ แสงคำ

อุปสรรคในการทำ Digital Transformation ไม่ได้มีเพียงเรื่องทางเทคนิค แต่เป็นเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลในองค์กร

แนวทางของกระบวนการ Digital Transformation

            ถึงแม้ว่ากระบวนการทำ Digital Transformation จะไม่ได้มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่องค์ประกอบที่ชัดเจนที่คุณปาจรีย์ได้แนะนำไว้ โดยอ้างถึงแนวคิดจาก Gartner คือ การปลูกฝังค่านิยมและชุดความคิด (mindset) ผนวกกับกระบวนการทำงาน (process) ที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เมื่อถูกขยายผลด้วยเทคโนโลยี (technology) ที่ตอบโจทย์และภารกิจขององค์กร จะนำไปสู่ขีดความสามารถ (capabilities) ใหม่ ๆ ที่สร้างประสิทธิผลเชิงประจักษ์

แนวคิดในการผนวกองค์ประกอบสำคัญในกระกวนการ Digital Transformation
โดยคุณปาจรีย์ แสงคำ

บทสรุป

ท่ามกลางยุคที่ความเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ องค์กรที่ผ่านกระบวนการ Digital Transformation จะสร้างขีดความสามารถในการผลิตนวัตกรรมที่เป็นมากกว่าการเติบโต แต่อาจหมายถึงความอยู่รอดขององค์กร ทั้งนี้ คุณปาจรีย์ได้เน้นย้ำว่า ความท้าทายหลักของ Digital Transformation คือการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล และวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งองค์กรสามารถเริ่มวางยุทธศาสตร์ตามหลักการเปลี่ยนพฤติกรรมและชุดความคิด (behavior and mindset) ภายในองค์กร ผนวกกับกระบวนการ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม

เนื้อหาโดย ปพจน์ ธรรมเจริญพร

ตรวจทานและปรับปรุงโดย ปพจน์ ธรรมเจริญพร

Former-Editor-in-Chief at BigData.go.th and Senior Data Scientist at Government Big Data Institute (GBDi )

แบ่งปันบทความ

กลุ่มเนื้อหา

แท็กยอดนิยม

แจ้งเรื่องที่อยากอ่าน

คุณสามารถแจ้งเรื่องที่อยากอ่านให้เราทราบได้ !
และเราจะนำไปพัฒนาบทความให้มีเนื้อหาที่น่าสนใจมากขึ้น

PDPA Icon

We use cookies to optimize your browsing experience and improve our website’s performance. Learn more at our Privacy Policy and adjust your cookie settings at Settings

Privacy Preferences

You can choose your cookie settings by turning on/off each type of cookie as needed, except for necessary cookies.

Accept all
Manage Consent Preferences
  • Strictly Necessary Cookies
    Always Active

    This type of cookie is essential for providing services on the website of the Personal Data Protection Committee Office, allowing you to access various parts of the site. It also helps remember information you have previously provided through the website. Disabling this type of cookie will result in your inability to use key services of the Personal Data Protection Committee Office that require cookies to function.
    Cookies Details

  • Performance Cookies

    This type of cookie helps the Big Data Institute (Public Organization) understand user interactions with its website services, including which pages or areas of the site are most popular, as well as analyze other related data. The Big Data Institute (Public Organization) also uses this information to improve website performance and gain a better understanding of user behavior. Although the data collected by these cookies is non-identifiable and used solely for statistical analysis, disabling them will prevent the Big Data Institute (Public Organization) from knowing the number of website visitors and from evaluating the quality of its services.

  • Functional Cookies

    This type of cookie enables the Big Data Institute (Public Organization)’s website to remember the choices you have made and deliver enhanced features and content tailored to your usage. For example, it can remember your username or changes you have made to font sizes or other customizable settings on the page. Disabling these cookies may result in the website not functioning properly.

  • Targeting Cookies

    "This type of cookie helps the Big Data Institute (Public Organization) understand user interactions with its website services, including which pages or areas of the site are most popular, as well as analyze other related data. The Big Data Institute (Public Organization) also uses this information to improve website performance and gain a better understanding of user behavior. Although the data collected by these cookies is non-identifiable and used solely for statistical analysis, disabling them will prevent the Big Data Institute (Public Organization) from knowing the number of website visitors and from evaluating the quality of its services.

Save settings
This site is registered on wpml.org as a development site. Switch to a production site key to remove this banner.