Insurance 2030 – AI จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยอย่างมหาศาลภายในปี 2030

Insurance 2030 – AI จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันภัยอย่างมหาศาลภายในปี 2030

14 February 2024

บทความนี้ยึดตามรายงาน “Insurance 2030—The impact of AI on the future of insurance” ของบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง McKinsey ที่ได้ออกมาทำนายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของอุตสาหกรรมธุรกิจประกันภัยจากการเข้ามาของเทคโนโลยีปัจจุบันและที่สำคัญคือ AI ที่จะเป็นตัวแปรที่สำคัญที่จะทำให้สิ่งต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ หรือแม้แต่การดำเนินการเรียกเงินประกันนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยบทความนี้จะมาสรุปใจความสำคัญให้สำหรับทุกท่านที่สนใจได้อ่านกันครับ

4 เทรนด์เทคโนโลยีที่จะมาเปลี่ยนแปลงธุรกิจประกัน

1.      ข้อมูลมหาศาลที่เกิดขึ้นจากเครือข่ายอุปกรณ์อัจฉริยะ

ในช่วงที่ผ่านมา เราได้เห็นอุปกรณ์อัจฉริยะมากมายที่มาพร้อมเซนเซอร์ในรูปแบบต่าง ๆ แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ อุปกรณ์อัจฉริยะเหล่านี้จะเชื่อมต่อกันมากขึ้น ผู้คนทั่วไปจะเข้าถึงอุปกรณ์เหล่านี้มากยิ่งขึ้น และจะมีอุปกรณ์อัจฉริยะใหม่ ๆ ออกวางขายมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่มีอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้แก่ รถยนต์อัจฉริยะ ผู้ช่วยบ้านอัจฉริยะ (home assistants) ตัวช่วยออกกำลังกาย (fitness tracker) สมาร์ตโฟน, และ สมาร์ตวอทช์ เป็นต้น เราจะได้เห็นอุปกรณ์ใหม่ ๆ ตัวอย่างเช่น เสื้อผ้าอัจฉริยะ แว่นตาอัจฉริยะ เครื่องใช้ในบ้านอัจฉริยะ (home appliances) เครื่องมือการแพทย์อัจฉริยะ และรองเท้าอัจฉริยะ

          การถาโถมเข้ามาของอุปกรณ์อัจฉริยะเหล่านี้จะทำให้เกิดข้อมูลมหาศาล โดยที่ผู้เชี่ยวชาญประเมินตัวเลขของการเชื่อมต่อกันระหว่างอุปกรณ์เหล่านี้จะสูงขึ้นไปแตะเลขหนึ่งล้านล้านการเชื่อมต่อภายในปี 2025 ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้บริษัทประกันต่าง ๆ เข้าใจลูกค้าของตัวเองได้ดีขึ้น ซึ่งนำไปสู่การนำเสนอประกันในรูปแบบใหม่ ๆ การเสนอราคาที่เฉพาะกับลูกค้ามากยิ่งขึ้น และการเคลมประกันที่รวดเร็วในระดับนาที (real-time service delivery)

          ตัวอย่างเช่น บริษัททำการคำนวณความเสี่ยงของลูกค้าจากข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์เครื่องสวมใส่ที่ลูกค้าได้ใส่ตลอด โดยที่บริษัทจะมีฐานข้อมูลของอุปกรณ์เครื่องสวมใส่เหล่านี้ของลูกค้าคนอื่นอยู่แล้วจึงสามารถคำนวณราคาที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่บริษัทต้องรับของลูกค้าคนนี้

2.      การใช้งานหุ่นยนต์จักรกลที่แพร่หลายมากขึ้น

ในช่วงไม่นานมานี้เราได้เห็นวงการหุ่นยนต์ได้ค้นพบนวัตกรรมใหม่ ๆ มากมาย และนวัตกรรมเหล่านั้นได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของเราไปอย่างสิ้นเชิง หนึ่งในการค้นพบที่สำคัญคือเครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printer) โดยที่ภายในปี 2025 การสร้างตึกด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติจะเริ่มแพร่หลายมากขึ้น และนี่จะเป็นโอกาสของบริษัทประกันที่จะมาช่วยประเมินความเสี่ยงของตึกที่ถูกสร้างแบบนี้ได้ นอกจากเครื่องพิมพ์สามมิติแล้วน เรายังจะได้เห็นหุ่นยนต์ประเภทใหม่ ๆ เช่น โดรนขับเคลื่อนตนเอง หุ่นยนต์ทำสวนด้วยตนเอง และหุ่นยนต์ที่ช่วยเหลือในการผ่าตัด นอกจากนี้ภายในปี 2030 ยานพาหนะส่วนใหญ่ที่มีตัวเลือกในการขับเคลื่อนตัวเอง เพราะฉะนั้นบริษัทประกันภัยจำเป็นต้องเข้าใจการใช้งานหุ่นยนต์ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายนี้ ซึ่งนั่นก่อให้เกิดความเสี่ยงรูปแบบใหม่ ๆ และโอกาสในการนำเสนอประกันในรูปแบบใหม่ ๆ ได้ในท้ายที่สุด

3.      ระบบนิเวศของการใช้ข้อมูลและซอฟต์แวร์แบบโอเพนซอร์ส

เราได้เห็นแล้วว่าข้อมูลจะเกิดขึ้นมหาศาล เพราะฉะนั้นทั้งหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชนจะต้องหาทางออกรวมกันในการสร้างกฎระเบียบในการใช้ข้อมูลร่วมกัน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานและความปลอดภัยทางไซเบอร์ ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์สวมใส่อาจส่งข้อมูลโดยตรงไปให้กับบริษัทประกันภัย หรือบริษัทข้อมูลอื่น ๆ ที่ต้องการใช้ข้อมูลดังกล่าว

4.      ความก้าวหน้าในเทคโนโลยีการรับรู้ขั้นสูง (Advances in Cognitive Technologies)

Convolution Neuron Network และเทคนิค Deep Learning แบบอื่น ๆ ที่ใช้ในการประมวลผลภาพเสียงและข้อความต่าง ๆ จะถูกนำไปใช้ในหลาย ๆ มิติด้วยกัน เทคโนโลยีการรับรู้เหล่านี้ที่คล้ายกับจำลองการเรียนรู้ของสมองจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ในการประมวลผลข้อมูลที่ถาโถมกันเข้ามาจากกิจกรรมจากลูกค้าที่ตรวจจับได้จากอุปกรณ์อัจฉริยะ ด้วยความสามารถนี้เอง บริษัทประกันสามารถนำเสนอประกันในรูปแบบใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในระดับ Real-time ได้

การประกันในปี 2030 จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ได้กล่าวก่อนหน้านี้จะสร้างแรงสั่นสะเทือนที่ยิ่งใหญ่สู่อุตสาหกรรมประกันภัย ตั้งแต่การนำเสนอขายประกันไปจนถึงการพิจารณารับประกัน (underwriting) และจากการตั้งราคากรมธรรม์ไปสู่การเคลมประกัน เรามาดูให้ลึกกว่านี้ว่าแต่ละส่วนของธุรกิจประกันจะถูกกระทบอย่างไรบ้าง

การนำเสนอขายประกัน

ในอนาคต การซื้อขายประกันจะเกิดขึ้นไวกว่าเดิมมาก และปราศจากการเจอหน้ากันระหว่างผู้ขายประกันและผู้ซื้อประกัน เมื่อบริษัทประกันมีข้อมูลของลูกค้ามากเพียงพอในการสร้างรูปแบบความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละคน การคำนวณความเสี่ยงเพื่อที่จะยื่นข้อเสนอของการทำประกันต่าง ๆ ก็จะใช้เวลาสั้นลงในระดับนาที หรือแม้กระทั่งวินาที ถึงแม้ว่า ณ ปัจจุบัน บริษัทประกันรถยนต์และประกันภัยบ้านสามารถประเมินราคาของประกันให้ลูกค้าได้โดยทันทีเมื่อร้องขอได้แล้ว แต่บริษัทประกันยังต้องปรับจูนโมเดลปัญญาประดิษฐ์อีกพอสมควรก่อนที่จะขยายขอบเขตการประกันภัยไปสู่ลูกค้าในวงกว้างได้ และเมื่อ AI ก้าวไปสู่ธุรกิจประกันชีวิตและบริษัทประกันสามารถระบุความเสี่ยงได้อย่างละเอียดขึ้น เราคงได้เห็นการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประกันภัยใหม่ ๆ ได้

นอกจากนี้การใช้เทคโนโลยีอย่างเช่นบล็อกเชนก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายหลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายได้ ยกตัวอย่างเช่น การยืนยันการโอนเงิน การสืบประวัติ สิ่งเหล่านี้จะหมดไปและช่วยลดค่าใช้จ่ายในการได้ลูกค้ามา (Customer Acquisition Cost: CAC) เทคโนโลยีเช่น โดรน Internet of Things (IoT) และข้อมูลสำหรับโมเดลปัญญาประดิษฐ์จะเป็นตัวส่งเสริมให้การซื้อขายเกิดขึ้นได้ไวขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

ในอนาคต เราจะได้เห็นประกันขนาดย่อยตามใช้จริง (Usage-Based Insurance: UBI) ที่สามารถยืดหยุ่นตามพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทประกัน จากประกันภัยที่ “ซื้อมาแล้วต่ออายุเมื่อครบปี” ในปัจจุบันจะกลายเป็นโมเดล “ซื้อไปเรื่อย ๆ ตามที่ใช้งานจริง” เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่แตกต่างในแต่ละวันของผู้บริโภค นอกเหนือจากนี้ จากกรมธรรม์ประกันภัยที่มีขนาดใหญ่ครอบคลุมไปเสียทุกอย่างจะเปลี่ยนเป็น กรมธรรม์ขนาดย่อย เช่น ประกันภัยแบตเตอรี่โทรศัพท์ ประกันไฟลท์ดีเลย์ ประกันอุปกรณ์ใช้ไฟฟ้าแต่ละตัวก่อนที่จะใช้งาน โดยที่จะมีบริษัทประกันมากมายมานำเสนอกรมธรรม์หลากหลายราคาเพื่อจูงใจผู้บริโภค กลายเป็นว่าผู้บริโภคก็จะมีตะกร้าของกรมธรรม์ประกันขนาดย่อยต่าง ๆ ที่ผู้โภคบริโภคเป็นคนเลือกเอง และในอนาคตที่ธรรมชาติของการท่องเที่ยวและการเดินทางที่เปลี่ยนไป การนำเสนอประกันภัยในรูปแบบใหม่ ๆ ก็จะเกิดขึ้นเช่นกัน เช่น ประกันตามระยะทางที่เดินทาง (pay-by-mile) หรือ ประกันตามการเดินทางครั้งนั้น (pay-by-ride) สำหรับการเดินทางแบบรถเช่าระยะสั้น (car-sharing) และ ประกันตามการอยู่อาศัย (pay-by-stay) สำหรับที่การเช่าที่พักอาศัยระยะสั้น เช่น Airbnb เป็นต้น

อีกหนึ่งสิ่งที่จะได้รับผลกระทบคือ ตัวแทนจำหน่ายประกันจะเปลี่ยนบทบาทจากคนที่ทำหน้าที่ขายประกันโดยตรงเป็นผู้สอนการใช้งานประกันรูปแบบใหม่และผู้ช่วยเหลือการซื้อขายประกันย่อย ๆ เหล่านี้แทนที่จะมาเป็นผู้ขายโดยตรง ตัวแทนจำหน่ายจะมีตัวช่วยอย่างเช่น ผู้ช่วยอัจฉริยะ (personal assistants) เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของพวกเขา และบอทปัญญาประดิษฐ์ที่จะช่วยหาข้อเสนอพิเศษที่เหมาะสมที่สุดกับลูกค้าของเขา

การพิจารณารับประกันและการตั้งราคากรมธรรม์ (Underwriting and Pricing)

ในปี 2030 นี้ การพิจารณารับประกันที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะเหลืออยู่น้อยมากสำหรับประกันภัยส่วนบุคคลและประกันภัยของธุรกิจขนาดเล็ก กระบวนการพิจารณารับประกันจะเหล่านี้จะใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที และประกันจำนวนมากจะได้รับการคำนวณความเสี่ยงโดยอัตโนมัติด้วยโมเดล deep learning โมเดลเหล่านี้จะถูกเทรนโดยข้อมูลที่บริษัทประกันภัยเก็บไว้ และ API ของบริการขอข้อมูลชนิดอื่น ๆ ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ผู้ให้บริการสามารถรับรู้ความเสี่ยงของผู้ขอประกันภัยและทำการคำนวณราคากรมธรรม์ให้เหมาะสมกับความเสี่ยงนั้น

ถึงแม้จะฟังดูง่าย แต่ว่าการที่อุตสาหกรรมจะไปถึงจุดนั้นได้จะต้องอาศัยการรับรองทางกฎหมายให้ได้ก่อน ซึ่งการจะอนุญาตให้ทำโมเดลมาขายอย่างนี้ได้บริษัทประกันผู้พัฒนาโมเดลจำเป็นต้องอธิบายอย่างชัดเจนให้กับทางผู้กำกับดูแลว่าตัวเลขคะแนนความน่าเชื่อถือ (หรือความเสี่ยง) ของลูกค้านั้นคำนวณมาได้อย่างไร (คล้าย ๆ กับการคำนวณ Credit Rating หรือความน่าเชื่อถือในการลงทุนของสินทรัพย์ทางการเงินประเภทต่าง ๆ) อีกทั้งการใช้ข้อมูลเพื่อโฆษณาขายกรมธรรม์ หรือการพิจารณาประกันว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ จำเป็นต้องได้รับตรวจสอบจากผู้กำกับดูแลผ่านสำรวจผลลัพธ์ที่ได้จากการจำลองข้อมูลผู้ใช้บริการ ผู้กำกับดูแลยังจำเป็นต้องออกแบบแนวทางการทดสอบประกันเหล่านี้เพื่อให้มั่นใจว่าผลลัพธ์ของโมเดลการคำนวณความเสี่ยงนี้จะอยู่ในช่วงที่เหมาะสม อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่ละเอียดอ่อน (เช่น ข้อมูลทางการแพทย์ หรือข้อมูลพันธุกรรม) ที่อาจก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติสำหรับบางกลุ่มได้

อย่างไรก็ตาม ราคาของประกันก็ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่จูงใจผู้บริโภคอยู่ แต่นวัตกรรมและความสร้างสรรค์ของบริษัทประกันจะช่วยเปิดกว้างการแข่งขันทางด้านบริการมากขึ้น แพลตฟอร์มการซื้อขายประกันจะช่วยเชื่อมต่อบริษัทประกันและลูกค้าเข้ากันเพื่อมอบประสบการณ์ที่พิเศษให้กับลูกค้า (เสียจนกระทั้งลูกค้าจะมีค่าใช้จ่ายในการย้ายไปใช้บริการประกันของบริษัทอื่น) ในบางประกัน ราคาจะยังคงเป็นปัจจัยอยู่และจะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยประกันเหล่านี้จะสร้างกำไรที่ต่ำจนเป็นเรื่องปกติ แต่ในสินค้าประเภทอื่น ๆ การนำเสนอสินค้าประเภทพิเศษที่ฉีกออกจากสินค้าประเภทเดิมจะทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ ในประเทศที่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงวิธีการนำเสนอสินค้าเหล่านี้ การแข่งขันทางราคาจะเป็นไปอย่างรวดเร็วในระดับวินาที โดยที่บริษัทจะสามารถคำนวณราคาให้กับแต่ละคนได้ผ่านข้อมูลที่ไหลผ่านบริษัทอยู่เรื่อย ๆ ทำให้บริษัทเหล่านั้นประเมินความเสี่ยงของลูกค้าได้ตลอดเวลา เพิ่มการควบคุมให้กับผู้บริโภคในการกระทำกิจกรรมใด ๆ ก็ตามที่จะส่งผลต่อความคุ้มครองของประกัน และราคาของประกันที่เขาจะต้องจ่าย

การเคลมประกัน

การเคลมประกันยังคงเป็นงานหลักของบริษัทประกันในปี 2030 แต่การเคลมเกินกว่าครึ่งจะถูกแปรเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีขั้นสูงช่วยทำให้การนำทาง (ไปสู่ที่เกิดเหตุ) แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อุปกรณ์เซนเซอร์ IoT และอุปกรณ์ที่ช่วยเก็บข้อมูลอย่างโดรนจะเริ่มเข้ามาแทนที่ระบบดั้งเดิมในการตรวจสอบที่เกิดเหตุ การจัดการเรื่องการเคลมและการซ่อมแซมความเสียหายจะเกิดขึ้นอัตโนมัติหลังจากอุบัติเหตุโดยทันที ตัวอย่างในกรณีของอุบัติเหตุยานยนต์ บริษัทประกันจะตรวจสอบความเสียหายจากวิดีโอที่บันทึกไว้ (จากกล้องวงจรปิดในสถานที่ หรือจากยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุ) ระบบจะเปลี่ยนวิดีโอเหล่านี้เป็นลักษณะของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นและประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น และจะถูกดำเนินการในการจัดการการเคลมประกันในลำดับถัดไป ในกรณีอุบัติเหตุเล็กน้อย ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนตัวเองได้ (autonomous vehicle) จะขับเคลื่อนตัวเองไปสู่ศูนย์ซ่อมแซมในขณะที่ผู้โดยสารยานพาหนะคันนั้นจะได้รับคันใหม่ในระหว่างการซ่อมแซมโดยทันที ในบ้าน ระบบ IoT จะช่วยวัดระดับน้ำของแทงค์น้ำในบ้าน อุณหภูมิ และปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นให้ลูกบ้านและเจ้าของประกันได้รับทราบก่อนที่อุบัติเหตุจะเกิดขึ้น

ผู้ขอประกันจะติดต่อเพื่อขอการเคลมกับบริษัทประกันภัยผ่านแอปพลิเคชันที่สามารถพูดคุย หรือส่งข้อความหาได้โดยระบบอัตโนมัติที่ไม่มีคนมาเกี่ยวข้องเลย ระยะเวลาที่ใช้ในการเคลมประกันแบบนี้จะลดลงเหลือเพียงแค่ระดับนาทีเท่านั้น ไม่ใช่ระดับวัน หรือระดับสัปดาห์อย่างที่เคยเป็นมา ถึงกระนั้น ระบบก็ยังรองรับการเคลมแบบที่มีพนักงานบริษัทเข้ามาเกี่ยวข้องได้ แต่แค่เฉพาะกรณีที่ซับซ้อนและระบบไม่เคยเจอมาก่อน หรือมีข้อพิพาทระหว่างผู้ขอประกันกับระบบอัตโนมัติโดยที่ผู้ร้องเรียนมีการทำการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการร้องเรียนมาด้วย นอกจากนี้ บริษัทจะทำการสุ่มการเคลมประกันโดยให้มนุษย์เข้ามาตรวจสอบเพิ่มเพื่อวัดมาตรฐานการทำงานของระบบ

การเคลมอัตโนมัติจำเป็นต้องใช้ระบบทางการเงินดิจิทัลพื้นฐาน เรียนรู้ว่าเงินในระบบดิจิทัลในโลกอนาคตเป็นอย่างไรได้ในบทความ CBDC: ระบบการเงินที่กำลังเปลี่ยนโลก และโอกาสของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล, Part 1

และด้วยกระบวนการเคลมที่จะถูกกลายเป็นอัตโนมัติ บริษัทประกันจะมุ่งเน้นไปในการป้องกันไม่ให้ความสูญเสียเกิดขึ้นแทน เช่น การลดความเสี่ยงและการป้องกันรวมถึงการลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในการทำกิจกรรมของเจ้าของประกัน อุปกรณ์ IoT จะช่วยเข้ามาดูแลความเสี่ยงและจะแจ้งเตือนหากผู้ใช้งานมีความเสี่ยงเกินกว่าที่ระบบกำหนด นอกจากนี้ มันยังแจ้งเตือนหากอุปกรณ์นั้นถึงรอบกำหนดในการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอุปกรณ์ที่ชำรุด สำหรับการเคลมประกันสำหรับภัยพิบัติขนาดใหญ่ บริษัทประกันจะมีข้อมูลจากบ้าน ยานพาหนะ โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ในกรณีที่ยังมีไฟฟ้าใช้งานได้อยู่ แต่ถ้าไฟฟ้าดับลง บริษัทประกันก็จะหาข้อมูลจากสัญญานดาวเทียม เครือข่ายของโดรน ข้อมูลพยากรณ์อากาศ และข้อมูลจากหน่วยภาครัฐที่เกี่ยวข้อง การเคลมลักษณะนี้ได้รับการทดสอบมาจากบริษัทประกันขนาดใหญ่แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการคำนวณความเสียหาย และมีความน่าเชื่อถือในการเคลมประกันที่ถูกต้อง แม่นยำ รายงานของความสูญเสียจากบริษัทประกันก็จะออกมาโดยทันทีหลังจากที่เกิดเหตุการณ์เพื่อนำมาเป็นจุดขายของการขายประกันต่อ ๆ ไป

ผู้เขียนเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อชีวิตของเราอย่างมหาศาล ในแง่หนึ่งมันจะส่งผลให้เรามีความปลอดภัยในการใช้ชีวิตมากขึ้นเนื่องจากบริษัทประกันจะทำหน้าที่ในเชิงรุกเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในชีวิตเราก่อนที่ความเสียหายจะเกิดขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม นั่นก็อาจทำให้อำนาจตกอยู่มือของบริษัทประกันมากขึ้นเช่นเดียวกันเพราะมันสามารถโน้มน้าวให้เรากระทำสิ่งใด ๆ ตามที่บริษัทต้องการ เพราะฉะนั้นเราอาจจะต้องการความเข้าใจปัญญาประดิษฐ์ที่ดีขึ้น เพื่อให้เราสามารถออกกฎหมายบังคับใช้ได้ดีขึ้น

นี่เป็นเพียงการคาดการณ์ของการสั่นสะเทือนในอุตสาหกรรมประกันเท่านั้น หากท่านใดที่ทำหน้าที่บริหารธุรกิจประกันอยู่และอยากจะรู้วิธีการเปลี่ยนผ่านธุรกิจตนเองไปสู่ยุคใหม่ก็สามารถอ่านเพิ่มได้ในรายงานฉบับนี้ได้เลย

บทความนี้แปลมาจากรายงาน Insurance 2030—The impact of AI on the future of insurance จาก McKinsey & Company

แปลโดย อนันต์วัฒน์ ทิพย์ภาวัต
ตรวจทานและปรับปรุงโดย นววิทย์ พงศ์อนันต์

แบ่งปันบทความ

กลุ่มเนื้อหา

แท็กยอดนิยม

แจ้งเรื่องที่อยากอ่าน

คุณสามารถแจ้งเรื่องที่อยากอ่านให้เราทราบได้ !
และเราจะนำไปพัฒนาบทความให้มีเนื้อหาที่น่าสนใจมากขึ้น

PDPA Icon

We use cookies to optimize your browsing experience and improve our website’s performance. Learn more at our Privacy Policy and adjust your cookie settings at Settings

Privacy Preferences

You can choose your cookie settings by turning on/off each type of cookie as needed, except for necessary cookies.

Accept all
Manage Consent Preferences
  • Strictly Necessary Cookies
    Always Active

    This type of cookie is essential for providing services on the website of the Personal Data Protection Committee Office, allowing you to access various parts of the site. It also helps remember information you have previously provided through the website. Disabling this type of cookie will result in your inability to use key services of the Personal Data Protection Committee Office that require cookies to function.
    Cookies Details

  • Performance Cookies

    This type of cookie helps the Big Data Institute (Public Organization) understand user interactions with its website services, including which pages or areas of the site are most popular, as well as analyze other related data. The Big Data Institute (Public Organization) also uses this information to improve website performance and gain a better understanding of user behavior. Although the data collected by these cookies is non-identifiable and used solely for statistical analysis, disabling them will prevent the Big Data Institute (Public Organization) from knowing the number of website visitors and from evaluating the quality of its services.

  • Functional Cookies

    This type of cookie enables the Big Data Institute (Public Organization)’s website to remember the choices you have made and deliver enhanced features and content tailored to your usage. For example, it can remember your username or changes you have made to font sizes or other customizable settings on the page. Disabling these cookies may result in the website not functioning properly.

  • Targeting Cookies

    "This type of cookie helps the Big Data Institute (Public Organization) understand user interactions with its website services, including which pages or areas of the site are most popular, as well as analyze other related data. The Big Data Institute (Public Organization) also uses this information to improve website performance and gain a better understanding of user behavior. Although the data collected by these cookies is non-identifiable and used solely for statistical analysis, disabling them will prevent the Big Data Institute (Public Organization) from knowing the number of website visitors and from evaluating the quality of its services.

Save settings
This site is registered on wpml.org as a development site. Switch to a production site key to remove this banner.