CBDC: ระบบการเงินที่กำลังเปลี่ยนโลก และโอกาสของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล, Part 1

CBDC: ระบบการเงินที่กำลังเปลี่ยนโลก และโอกาสของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล, Part 1

24 June 2021

ทุกวันนี้ พูดได้เลยว่า ไม่มีใครที่ไม่เคยได้ยินสกุลเงินคริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัล (Digital Currency) ประเภทหนึ่ง โดยสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งเป็น “เงินบนอินเทอร์เน็ต” กล่าวคือ มีอยู่ ถูกจัดเก็บ ถูกใช้ ผ่านระบบดิจิทัลที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตทั้งหมด จากกระแสสกุลเงินดิจิทัล ธนาคารกลางแต่ละประเทศก็เริ่มตื่นตัวกับกระแสนี้ บทความนี้จะพาทุกท่านทำความรู้จักกับสกุลเงินดิจิทัลที่มาจากธนาคารกลาง หรือ Central Bank Digital Currency (CBDC) และคลื่นลูกใหม่แห่งความเป็นไปได้ที่อาจจะพลิกโฉมชีวิตทางการเงินของเราทุกคนในอนาคต รวมถึงโอกาสด้านการวิเคราะห์ข้อมูลที่จะเกิดขึ้นจากข้อมูลจำนวนมหาศาลที่จะเกิดขึ้นบนระบบทางการเงินดิจิทัลนี้ด้วย

CBDC คืออะไร?

รูปที่ 2 Designed by starline / Freepik

CBDC คือ สกุลเงินดิจิทัลที่มีธนาคารกลางคอยกำกับดูแล เราอาจคุ้นหูในชื่อของ Digtal Yuan ของประเทศจีนหรือ Digital Thai Baht ของประเทศไทยมากกว่า แต่คำว่า CBDC ถือเป็นชื่อเรียกของนวัตกรรมนี้โดยรวม CBDC ถือเป็นเงินทางเลือก (เช่นเดียวกับ เงินสด และ ​​​เงินอิเล็กทรอนิกส์) เอาไว้ใช้ในกิจกรรมทางการเงินสำหรับประชากรที่อยู่อาศัยในประเทศนั้น สกุลเงินนี้จะถูกใช้อยู่บนกระเป๋าเงินดิจิทัล (บัญชีธนาคาร) และเราสามารถส่งเงินสกุลนี้ไปยังกระเป๋าเงินของบุคคลอื่นเพื่อใช้ในการชำระหนี้อย่างถูกกฎหมาย (เหมือนกับเงินสดทุกประการ) ธนาคารกลางจะมีหน้าที่กำกับดูแลระบบการใช้จ่ายนี้ในหลาย ๆ มิติ ได้แก่ ความปลอดภัยของระบบ ความสะดวกรวดเร็วในการทำธุรกรรม เสถียรภาพทางการเงินของสกุลเงินนี้ และ การวางรากฐานในการสร้างนวัตกรรมบนระบบนี้ เป็นต้น กล่าวโดยสรุปคือ CBDC เป็น “เงินสดในรูปแบบดิจิทัล” ที่รองรับโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศนั่นเอง

CBDC เป็น “เงินสดในรูปแบบดิจิทัล” ที่รองรับโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ

CBDC แตกต่างจาก Internet Banking อย่างไร?

รูปที่ 3 Designed by rawpixel.com / Freepik

ผู้อ่านหลาย ๆ ท่านอาจจะสงสัยว่า แล้วทุกวันนี้ ที่เราโอนเงิน รับเงินกันผ่านมือถือ ผ่านแอพต่าง ๆ เช่น เป๋าตัง, TMB Touch, SCB Easy มันก็เหมือนเราใช้เงินในรูปแบบดิจิทัลอยู่แล้วไม่ใช่หรือ แล้ว CBDC มันต่างจาก “เงินดิจิทัล” ที่เราใช้กันอยู่แล้วทุกวันนี้ บนแอพธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ อย่างไร?

Internet Banking คือบริการที่อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินของธนาคารพาณิชย์บนระบบการเงินแบบดั้งเดิม ในระบบการเงินนี้ ธนาคารพาณิชย์เป็นองค์กรธุรกิจทีมีหน้าที่รับฝากเงินจากลูกค้าและหากำไรจากการนำเงินเหล่านั้นไปลงทุน หรือปล่อยกู้เพื่อกินส่วนต่าง เงินที่เราฝากกับธนาคารพาณิชย์จะเป็นทรัพย์สินของธนาคารพาณิชย์ที่ตัวธนาคารสามารถไปสร้างผลกำไรต่อ และตัวเลขในบัญชีธนาคารคือหนี้สินของธนาคารที่มีต่อเรานั่นเอง ทุก ๆ ครั้งที่เราถอนเงินจากบัญชี เราได้ทำการขอคืนเงินของเราที่ให้ธนาคารยืมไป หากจะยกตัวอย่างกรณีสุดโต่งเพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น ธนาคารพาณิชย์เองก็สามารถล้มละลายได้ หากธนาคารพาณิชย์ปิดตัวลง เงินของเราที่ฝากในธนาคารก็มีความเสี่ยงที่จะหายไปด้วย โดยสรุป Internet Banking คือบริการเสริมจากบริการรับฝากเงินของธนาคารพาณิชย์

แต่ CBDC เปรียบเสมือนเงินสดบนระบบดิจิทัลรองรับโดยธนาคารกลาง ในอีกแง่หนึ่ง CBDC เป็นหนี้สินของธนาคารกลางที่มีต่อเรา (เช่นเดียวกันกับเงินสด) นอกจากนี้ CBDC จะถูกใช้งานอยู่บนระบบหลังบ้านในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบดิจิทัลจากธนาคารกลาง ระบบนี้จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศที่พัฒนารูปแบบของเงินให้อยู่บนระบบดิจิทัลแทน ระบบนี้นอกเหนือจากสามารถดำเนินการทำธุรกรรมทางเงินปกติแล้วนั้น ก็ยังรองรับการสร้างนวัตกรรมทางการเงินอื่น ๆ บนตัวระบบอีกด้วย โดยเฉพาะการเขียนสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) หรือการสร้างระบบการทำธุรกรรมอัตโนมัติโดยการกำหนดเงื่อนไขของการทำธุรกรรม (ซึ่งจะอธิบายเพิ่มเติมในบทความถัดไป)

นอกเหนือจากนี้ CBDC ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อจะรองรับการเชื่อมต่อกับระบบดิจิทัลอื่น ๆ ที่จะตามมาอีกด้วย ตัวอย่างเช่น Asset Tokenization (การซื้อขายหน่วยสินทรัพย์บนระบบดิจิทัล), Digital Identity (ข้อมูลประจำตัวประชาชนบนระบบดิจิทัล), Digital Wallet (กระเป๋าสตางค์ดิจิทัล) เป็นต้น

Internet Banking คือบริการที่อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินของธนาคารพาณิชย์บนระบบการเงินแบบดั้งเดิม

แต่ CBDC เปรียบเสมือนเงินสดบนระบบดิจิทัลรองรับโดยธนาคารกลาง

CBDC แตกต่างจาก Cryptocurrency อย่างไร?

รูปที่ 4 เปรียบเทียบระบบการเงินที่อาศัยตัวกลาง (Centralised, ซ้าย) และระบบการการเงินกระจายศูนย์ (Decentralised, ขวา) ที่มาจาก GOV.UK Open Innovation Team blog

CBDC และ Cryptocurrency ทั้งคู่เปรียบเสมือนโฉมหน้าของการเงินของอนาคต ทั้งสองทำงานอยู่บนระบบดิจิทัลเหมือนกัน เราสามารถโอนย้ายสินทรัพย์ต่าง ๆ โดยที่ไม่ถูกปิดกั้นจากข้อจำกัดทางกายภาพแบบเดิม ๆ ถึงกระนั้น ทั้งคู่มีความแตกต่างทางด้านเทคโนโลยีพื้นฐานและแนวคิดของการมีอยู่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้สกุลเงินทั้งสองมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เรามาทำความเข้าใจเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ดีขึ้นกันดีกว่า

วิธีที่จะเข้าใจ Cryptocurrency ที่ดี คือให้จินตนาการว่า ถ้าเราอยากส่งเงินไปให้แม่ค้าออนไลน์เพื่อซื้อของ เราจะทำอย่างไร? ในปัจจุบัน เราใช้บริการธนาคารในการโอนเงินจากบัญชีของเราไปหาบัญชีของแม่ค้า ธุรกรรมนี้จะถูกบันทึกโดยธนาคาร เพราะเราเชื่อใจให้ธนาคารที่เก็บเงินและทำธุรกรรมให้เรา  นี้คือระบบการเงินในปัจจุบันที่เราอาศัย “ตัวกลาง” ในการทำธุรกรรมให้เรา (ดังในรูปที่ 4 ด้านซ้าย)

แต่ในปัจจุบัน เทคโนโลยีบล็อกเชนอนุญาตให้มีระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ช่วยกันเก็บข้อมูลร่วมกันด้วยหลักการกระจายศูนย์ข้อมูล (Distributed Ledger Technology: DLT) และป้องกันไม่ให้ข้อมูลในอดีตถูกเปลี่ยนแปลงได้ด้วยศาสตร์การเข้ารหัส (Cryptography) เทคโนโลยีนี้จะเข้ามาสร้างผลกระทบในระบบการเงินปัจจุบัน ด้วยการสร้างระบบคอมพิวเตอร์กระจายศูนย์เพื่อร่วมกันบันทึกธุรกรรมการเงินที่เกิดขึ้นในระบบทั้งหมด (ดังในรูปที่ 4 ด้านขวา) โดยที่ตัว Cryptocurrency เองจะถูกใช้เป็นทั้งตัวทรัพย์สินและค่าบริการในระบบการทำธุรกรรมไร้พรมแดนนี้ ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงกล่าวว่า Cryptocurrency เป็นระบบการเงินที่ “ไร้ตัวกลาง”

ในปัจจุบันการใช้งานเครือข่ายคอมพิวเตอร์นี้ช่วยสร้างอรรถประโยชน์อีกมากโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ยังพึ่งพาตัวกลาง ได้แก่ การฝาก-กู้เงิน การซื้อ-ขายพลังงานสะอาด การขอข้อมูลจากแหล่งข้อมูล (API) เป็นต้น ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดความต้องการในการใช้บริการระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งนั่นส่งผลให้เหรียญ Cryptocurrency ที่ถูกใช้เป็นค่าบริการมีราคาที่เพิ่มสูงขึ้น โดยสรุปแล้ว Cryptocurrency เป็นสกุลเงินเพื่อใช้ในการโอนย้ายมูลค่า และใช้เพื่อจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมในการใช้บริการในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์กระจายศูนย์

ส่วน CBDC เป็นเงินสดในระบบดิจิทัลที่ดูแลโดยธนาคารกลางเพื่ออำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมทางการเงินในประเทศ หน้าที่อีกอย่างของธนาคารกลางคือการทำให้เงินสกุลนี้มีเสถียรภาพ ผ่านนโยบายทางการเงินต่าง ๆ นอกเหนือจากนี้ ธนาคารกลางยังมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้เงินสกุลนี้ในกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น การฟอกเงิน และการก่อการร้าย เป็นต้น และท้ายที่สุด CBDC ก็พร้อมจะรองรับการสร้างเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในระบบ Cryptocurrency อีกด้วย แต่ทำงานโดยที่มีธนาคารกลาง/รัฐบาลดูแลอยู่ เพราะฉะนั้น CBDC เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกกำกับดูแลโดยธนาคารกลาง

ทั้งคู่เปรียบเสมือนเหรียญสองด้านของระบบการเงินในโลกอนาคต ธนาคารกลางมีเหตุผลในการควบคุม CBDC สกุลเงินนี้ เพราะมันเป็นตัวอำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมทางการเงินภายในประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายทางการเงินต่าง ๆ พร้อมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดการนำเงินนี้ไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย ในขณะที่ Cryptocurrency เน้นทางด้านการใช้ประโยชน์จากระบบเก็บข้อมูลที่ไม่อาศัยตัวกลางใด ๆ และในบางเหรียญ เช่น Bitcoin ก็มีคุณค่าในการไม่สามารถถูกควบคุมโดยใคร และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินได้อีก ปัจจัยเหล่านี้สร้างความหนักใจให้กับรัฐบาลในการยอมรับ Cryptocurrency ให้มีการใช้งานจริงในประเทศ เพราะอาจทำให้รัฐบาล/ธนาคารกลางไม่สามารถออกนโยบายทางการเงินที่เกิดประสิทธิผลในประเทศได้ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีอะไรที่แน่ชัดออกมาจากธนาคารกลาง เป็นไปได้ว่าความสัมพันธ์ของเงินสองสกุลนี้อาจจะเสริมซึ่งกันและกันก็เป็นได้

Cryptocurrency เป็นสกุลเงินเพื่อใช้ในการโอนย้ายมูลค่า และใช้เพื่อจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมในการใช้บริการในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์กระจายศูนย์

ในขณะที่ CBDC เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ถูกกำกับดูแลโดยธนาคารกลาง

ซึ่งในทั้งสองระบบ เราสามารถโอนย้ายสินทรัพย์ต่าง ๆ โดยที่ไม่ถูกปิดกั้นจากข้อจำกัดทางกายภาพแบบเดิม ๆ

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจจากการออก CBDC

รูปที่ 5 Designed by pch.vector / Freepik

คนจะเข้าถึงบริการทางการเงินได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น

ในประเทศที่ยากจน ธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เลือกที่จะเปิดสาขาในพื้นที่ในเมืองไม่ใช่ชนบท เป็นเพราะว่า ธนาคารสามารถทำกำไรกับลูกค้าบริเวณนั้น ทำให้ประชาชนในพื้นที่ที่ห่างไกลไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างเท่าเทียม แต่เมื่อ CBDC มาแล้วนั้น ประชาชนทุกคนจะได้รับการเปิดบัญชี และมีบัญชีดิจิทัลอยู่ในระบบ เพียงพวกเขาเหล่านั้นมี smartphone ที่ทุกวันนี้ก็สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขาสามารถนำบัญชีไปสร้างเครดิตและได้รับบริการทางการเงินบนระบบอินเทอร์เน็ตได้เหมือนกับคนอื่น ๆ

GDP จะโตขึ้น เนื่องจาก เงินเข้าและออกจากระบบไวขึ้น

เมื่อเรามีระบบการเงินที่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างสะดวกสบาย และรวดเร็ว มีการอนุญาตให้สั่งคำสั่งในการรับเงิน-โอนเงินโดยอัตโนมัติ มันจะช่วยเพิ่มความเร็วในการใช้จ่ายเงิน และตามหลักทฤษฎีการเงินของวิชาเศรษฐศาสตร์แล้วนั้น CBDC ส่งผลให้ตัวเลขผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) ขยายตัวขึ้นมาก นอกจากนี้ การมีบันทึกของเงินที่ไหลเข้าแล้วออกในปริมาณที่มากขึ้น ทำให้ผู้ใช้งานมีเครดิตที่ดีขึ้น ส่งผลให้การใส่เงินในระบบเศรษฐกิจของธนาคารกลางมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

การให้บริการทางการเงินอาจจะพลิกโฉมไป

เมื่อก่อนที่การให้บริการทางการเงินจะต้องเป็นเฉพาะธนาคารพาณิชย์เท่านั้นที่จะได้รับการรับรองและอนุญาตให้กู้เงินจากธนาคารกลางได้ แต่ว่าในอนาคต หากธนาคารกลางเปิดให้นักพัฒนาแอพลิเคชันเข้ามาพัฒนาในระบบพื้นฐานนี้ เราอาจจะเห็นหน่วยงานหรือองค์กรรูปแบบใหม่ที่ให้บริการทางการเงินได้มีประสิทธิภาพมากกว่า

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในโลกของคริปโทเคอร์เรนซี ได้แก่ Compound Finance (white paper) ซึ่งเป็น องค์กรอัตโนมัติแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Autonomous Organization: DAO) ที่รับเงินฝากคริปโทเคอร์เรนซีจากผู้ที่ฝาก และนำไปปล่อยกู้โดยตรงให้กับผู้ที่ขอกู้ (ด้วยการจำนองเหรียญอีกสกุลหนึ่ง) ด้วยวิธีการดังกล่าว หน่วยงานที่ให้บริการทางการเงินสามารถลดค่าใช้จ่ายในด้านทรัพยากรบุคคล สถานที่ และสามารถให้บริการได้ทุกที่ทั่วโลกที่มีอินเทอร์เน็ต

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ที่ระบบสกุลเงินดิจิทัล สามารถเพิ่มประสิทธิภาพเรื่องการฝาก-กู้เงิน ได้อย่างไม่มีเคยมีมาก่อน ในอนาคต ธุรกรรมทางการเงินอื่น ๆ เช่น การซื้อขายสินทรัพย์ทางการเงิน การเคลมประกัน การลงทุน ก็สามารถถูกพลิกโฉมไปได้ในลักษณะเดียวกัน ด้วยการให้บริการผ่านระบบดิจิทัล และ CBDC

ทั้งนี้ เราต้องรอการออกกฎระเบียบที่แน่ชัดจากธนาคารกลางก่อนที่จะพูดถึงความเป็นไปได้ในอนาคต

สถานการณ์ทั่วโลกตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว

รูปที่ 6 กราฟแท่งแสดงดัชนีความก้าวหน้าทางการศึกษา CBDC แบบ Retail CBDC ข้อมูลจากการศึกษาของ PricewaterhouseCoopers (PwC)
รูปที่ 7 กราฟแท่งแสดงดัชนีความก้าวหน้าทางการศึกษา CBDC แบบ Wholesale CBDC ข้อมูลจากการศึกษาของ PricewaterhouseCoopers (PwC)

ธนาคารกลางทั่วโลกต่างสนใจและกำลังศึกษาการนำ CBDC มาใช้ในประเทศของตนเอง เนื่องจาก CBDC เป็นเครื่องมือที่จะช่วยประชาชนให้เข้าถึงบริการทางการเงินได้ดีขึ้น และเป็นการนำบริการทั้งหมดมาไว้ในระบบดิจิทัลที่ง่ายที่สุด

เราอาจแบ่งการใช้งานของ CBDC ได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. Wholesale CBDC คือ เครือข่ายของการโอนทรัพย์สินระหว่างสถาบันการเงินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ
  2. Retail CBDC คือ การใช้สกุลเงินดิจิทัลประหนึ่งเป็นเงินสดระหว่างประชาชนและบริษัทห้างร้านที่ให้บริการกับประชาชน

ปัจจัยที่กำหนดเส้นทางการพัฒนาสกุล CBDC ของธนาคารกลางในแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับปัญหาหรือความท้าทายของสกุลเงินที่ธนาคารกลางประสบอยู่ ด้วยเหตุนี้เอง ในการศึกษาของ PricewaterhouseCoopers (PwC) เราจะเห็นธนาคารกลางจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่สนใจในการศึกษาและทดลอง Retail CBDC เพราะเนื่องจากธนาคารกลางเหล่านี้เห็นช่องว่างขนาดใหญ่ในการในบริการทางการเงินให้กับประชาชน ประเทศเหล่านี้ได้แก่ จีน บาฮามาส กัมพูชา เป็นต้น (รูปที่ 6) ในขณะที่ ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วจะมองหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพของระบบการเงินของตัวเอง เพราะฉะนั้นจึงเลือกจะศึกษาและพัฒนา Wholesale CBDC ก่อน ได้แก่ ไทย ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น (รูปที่ 7)  ท่านสามารถดูความก้าวหน้าของการศึกษาและทดลองทั่วโลกโดยสังเขปได้จากการศึกษาของ PricewaterhouseCoopers (PwC)และการศึกษา Retail CBDC ของประเทศไทย ในเชิงอรรถที่1

ประเทศไทยอยู่ตรงไหน?

รูปที่ 8 Timeline การพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล CBDC ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ผ่านมา และในอนาคต ที่มาจาก BOT

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มธนาคารกลางที่ตื่นตัวกับเทคโนโลยีเงินดิจิทัล จนได้ตำแหน่งแรกในการจัดอันดับดัชนีความพร้อมของระบบ CBDC แบบ Wholesale จากการศึกษาของ PricewaterhouseCoopers (PwC) งานศึกษาทดลองของธปท.ที่ผ่านมาคือ การทดลองระบบ Wholesale CBDC โดยใช้ชื่อโครงการว่า อินทนนท์ ประกอบไปด้วยหลายช่วง ในช่วงแรกและช่วงที่สองเป็นการทดสอบระบบการซื้อขายสินทรัพย์ทางการเงินผ่านสถาบันทางการเงินภายในประเทศด้วยเทคโนโลยี DLT ในช่วงที่สามเป็นการขยายผลการทดลองไปสู่ธนาคารกลางของฮ่องกง และประเทศจีน นอกจากโปรเจกต์อินทนนท์ ธปท. มีประสบการณ์เสริมของการทดลอง Retail CBDC ผ่านการสนับสนุนให้ทางฝั่งเอกชน “บริษัทปูนซิเมนต์ไทย” ใช้ระบบ CBDC ในการออก token เพื่อการกู้ยืมเงินบนระบบ CBDC ในการใช้งานควบคู่กับการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาจัดการกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อทำกระบวนการออกใบแจ้งหนี้ให้เป็นอัตโนมัติ ประสบการณ์ดังกล่าวที่สั่งสมได้พาธปท.ให้เป็นธนาคารกลางที่มีความพร้อมในลำดับต้น ๆ เลยทีเดียว

ในก้าวต่อไปของ CBDC ธปท.ได้ทำการศึกษาผลกระทบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในการออกสกุลเงิน Digital Thai Baht ให้กับประชาชน (Retail CBDC) รายละเอียดของการศึกษาสามารถอ่านได้จากการศึกษา Retail CBDC ของประเทศไทยนี้ หลังจากนี้ ธปท.จะรวบรวมข้อคิดเห็นต่าง ๆ และจะนำมาสรุปเพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมที่สุดของเงินสกุลนี้ และจะเริ่มการพัฒนาระบบในเดือนกรกฎาคมของปีเดียวกัน และจะเริ่มทดสอบ Digital Thai Baht ในระดับ Pilot ในวงจำกัดในไตรมาสที่ 2 ของปีพ.ศ. 2565

รายละเอียดเพิ่มเติมของโครงการ: https://www.bot.or.th/Thai/DigitalCurrency

สรุป

CBDC หรือสกุลเงินที่ออกโดยธนาคารกลางถือเป็นพัฒนาการของตัวกลางทางการเงินจากกายภาพมาสู่ตัวเลขบนระบบดิจิทัล ความก้าวหน้านี้นอกจากจะเป็นระบบการโอนเงินไร้ขอบเขตแต่ก็ยังก่อให้เกิดการวางรากฐานต่อการสร้างนวัตกรรมทางการเงินอื่น ๆ ในโลกอนาคตซึ่งแบ่งแยก CBDC ออกจาก Internet Banking นอกจากนี้ CBDC ยังสร้างผลกระทบทางการเงินในเชิงบวกของประเทศอย่างหลากหลาย ทั้งการเพิ่มการให้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึง และการเพิ่มความเร็วของเงิน และถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมของธนาคารกลางในการออก CBDC เพื่อตอบสนองต่อความนิยมของ Cryptocurrency เพื่อรักษาเสถียรภาพของสกุลเงินของประเทศเอาไว้ แต่ไม่ว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองจะเป็นอย่างไรในอนาคต เราสามารถนำนวัตกรรมทางการเงินที่กำลังทดลองอยู่บนโลกคริปโทเคอร์เรนซีมาปรับใช้ในโลก CBDC ได้ อนาคตของการเงินไม่ได้อยู่ไกลตัวแต่มันกำลังจะเกิดขึ้น!

ในบทความถัดไป CBDC: ระบบการเงินที่กำลังเปลี่ยนโลก และโอกาสของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล, Part 2 เราจะมาพูดถึง Smart Contract และโอกาสของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลจากการเข้ามาของ CBDC นี้

เนื้อหาโดย อนันต์วัฒน์ ทิพย์ภาวัต
ตรวจทานและปรับปรุงโดย ปพจน์ ธรรมเจริญพร

Former-Editor-in-Chief at BigData.go.th and Senior Data Scientist at Government Big Data Institute (GBDi )

แบ่งปันบทความ

กลุ่มเนื้อหา

แท็กยอดนิยม

แจ้งเรื่องที่อยากอ่าน

คุณสามารถแจ้งเรื่องที่อยากอ่านให้เราทราบได้ !
และเราจะนำไปพัฒนาบทความให้มีเนื้อหาที่น่าสนใจมากขึ้น

PDPA Icon

We use cookies to optimize your browsing experience and improve our website’s performance. Learn more at our Privacy Policy and adjust your cookie settings at Settings

Privacy Preferences

You can choose your cookie settings by turning on/off each type of cookie as needed, except for necessary cookies.

Accept all
Manage Consent Preferences
  • Strictly Necessary Cookies
    Always Active

    This type of cookie is essential for providing services on the website of the Personal Data Protection Committee Office, allowing you to access various parts of the site. It also helps remember information you have previously provided through the website. Disabling this type of cookie will result in your inability to use key services of the Personal Data Protection Committee Office that require cookies to function.
    Cookies Details

  • Performance Cookies

    This type of cookie helps the Big Data Institute (Public Organization) understand user interactions with its website services, including which pages or areas of the site are most popular, as well as analyze other related data. The Big Data Institute (Public Organization) also uses this information to improve website performance and gain a better understanding of user behavior. Although the data collected by these cookies is non-identifiable and used solely for statistical analysis, disabling them will prevent the Big Data Institute (Public Organization) from knowing the number of website visitors and from evaluating the quality of its services.

  • Functional Cookies

    This type of cookie enables the Big Data Institute (Public Organization)’s website to remember the choices you have made and deliver enhanced features and content tailored to your usage. For example, it can remember your username or changes you have made to font sizes or other customizable settings on the page. Disabling these cookies may result in the website not functioning properly.

  • Targeting Cookies

    "This type of cookie helps the Big Data Institute (Public Organization) understand user interactions with its website services, including which pages or areas of the site are most popular, as well as analyze other related data. The Big Data Institute (Public Organization) also uses this information to improve website performance and gain a better understanding of user behavior. Although the data collected by these cookies is non-identifiable and used solely for statistical analysis, disabling them will prevent the Big Data Institute (Public Organization) from knowing the number of website visitors and from evaluating the quality of its services.

Save settings
This site is registered on wpml.org as a development site. Switch to a production site key to remove this banner.