เฟ้นหาวิธีการสร้างสุดยอดทีมในองค์กรด้วย Data

เฟ้นหาวิธีการสร้างสุดยอดทีมในองค์กรด้วย Data

13 May 2021

ถ้าคุณมีโอกาสเลือกทีมที่จะทำงานด้วยได้ คุณอยากจะได้ทีมแบบไหน? หรือถ้าคุณเป็นผู้บริหารภายในองค์กร คุณจะทำการสร้างทีม (team building) จัดสรรคนเข้าด้วยกันภายในองค์กรอย่างไร ให้องค์กรมีประสิทธิภาพสูงสุด?

คุณคิดว่าทีมที่ดีที่สุด จำเป็นต้อง:

  • เอาคนที่ฉลาดและมีความสามารถสูงสุดเท่านั้นมารวมกันหรือเปล่า?
  • มีคนภายในทีม ที่เข้ากันดีถึงขนาดกลายเป็นเพื่อนกันนอกเวลางานหรือเปล่า?
  • คุยเรื่องงานเท่านั้น ห้ามออกนอกเรื่อง เวลาประชุมหรือเปล่า?
  • รวมคนบุคลิกประเภทเดียวกัน เช่น introverts หรือ ผู้ชอบสภาพแวดล้อมที่มีสิ่งเร้าน้อย (อ้างจากนิยามของ introvert โดย Susan Cain) ไว้ด้วยกันหรือเปล่า?

ทีมงานที่ดีที่สุด ควรมีคุณสมบัติหรือบุคลิกของตัวบุคคลในทีมอย่างไร? ควรมีคุณสมบัติของวัฒนธรรมหรือค่านิยมภายในทีมอย่างไร? หรือควรมีลักษณะของความสัมพันธ์ของคนภายในทีมอย่างไร?

ยุคที่ข้อมูลกำลังเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วและวิธีการเก็บข้อมูลก็ทำได้ง่ายและหลายหลายนี้ ได้เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง ทั้งนักวิจัย นักจิตวิทยา และนักสถิติศาสตร์ สามารถเริ่มค้นหาคำตอบในการสร้าง “สุดยอดทีมงาน” (Perfect Team) ภายในองค์กร และ Google ก็เป็นบริษัทชั้นนำของโลกที่อยู่ในแนวหน้าของการวิจัยในด้านนี้

re:Work เป็นโครงการแบ่งปันความรู้ ระเบียบวิธี งานวิจัย เพื่อช่วยผลักดันในการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน (productivity) โดยแผนก HR ของ Google

ทำไมต้องทำงานเป็นทีม?

แน่นอนว่า Google มีแรงจูงใจที่จะหาคำตอบนี้ เพราะองค์กรสมัยใหม่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ซับซ้อนขึ้น, มีการทำงานแบบบูรณาการข้ามภาคส่วน (cross-functional business) มากขึ้น, การแข่งขันที่สูงขึ้นเพราะองค์กรต้องแข่งขันกันในระดับเวทีโลก, จึงต้องมีการทำงานร่วมกันเป็นทีมที่มากขึ้น จากการศึกษาที่เปิดเผยโดย Harvard Business Review พบว่า ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา พนักงานและผู้บริหารภายในองค์กรต่าง ๆ ใช้เวลาในการทำงานร่วมกันมากขึ้นอย่างน้อยถึง 50% เพราะฉะนั้น หาก Google ต้องการรักษาตำแหน่งบริษัทชั้นนำ ก็ต้องหาวิธีการสร้างและรักษาทีมงานที่ดีที่สุดไว้ให้ได้ และต้องทำซ้ำได้สำหรับใช้ทั้งองค์กรอีกด้วย (Google มีจำนวนพนักงานมากกว่า 135,000 คน ในปี 2020)

องค์กรสมัยใหม่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายที่ซับซ้อนขึ้น, มีการทำงานแบบบูรณาการข้ามภาคส่วน (cross-functional business) มากขึ้น, การแข่งขันที่สูงขึ้นเพราะองค์กรต้องแข่งขันกันในระดับเวทีโลก, จึงต้องมีการทำงานร่วมกันเป็นทีมที่มากขึ้น

ใช้ Data หาคำตอบ เพื่อสร้างสุดยอดทีม (Perfect Team Building)

เพื่อหาคำตอบนี้ แผนก HR ของ Google (ใช้ชื่อว่า People Operations) จึงทุ่มเทงบจำนวนมากในการศึกษาทุกซอก ทุกมุม เกี่ยวกับการทำงานของพนักงานภายใน Google หรือที่เรียกกันว่า “Googlers” โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจ (surveys) ต่าง ๆ ที่ศึกษาตั้งแต่ คุณนั่งทานข้าวกับใครตอนพักเที่ยง? คุณมีการพบปะกับคนในทีมหลังเลิกงานไหม? พื้นฐานทางการศึกษาของคุณเป็นอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับคนในทีม? คุณรู้สึกว่าคุณรักษาสมดุลในชีวิตการทำงาน (work-life balance) ได้ดีไหมอย่างไร? ไปจนถึงคำถามเชิงจิตวิทยา เช่น คุณมีบุคลิกแบบไหนระหว่าง introvert กับ extrovert? และคนในกลุ่มมีบุคลิกเหมือนคุณไหม? คุณรู้สึกสบายใจที่จะ “คิดต่าง” และพูดสิ่งที่คุณคิดออกมาให้คนในทีมฟังไหม? คุณสนใจปัญหาของเพื่อนร่วมงานที่ไม่ใช่ปัญหาของคุณโดยตรงไหม?

Google ถามตั้งแต่พื้นฐานการศึกษา คำถามเชิงพฤติกรรมอย่าง คุณนั่งทานข้าวกับใครตอนพักเที่ยง? ไปจนถึงคำถามเชิงจิตวิทยาอย่าง คุณรู้สึกสบายใจที่จะ “คิดต่าง” และพูดสิ่งที่คุณคิดออกมาให้คนในทีมฟังไหม? เพื่อพยายามหาคุณลักษณะของสุดยอดทีม (Perfect Team) ภายในองค์กร

คำถามจากแบบสำรวจเหล่านี้ ได้ถูกใช้ศึกษาทีมภายใน Google มากกว่า 180 ทีม โดยขนาดของทีมต่าง ๆ มีหลากหลาย ตั้งแต่ 3 ถึง 50 คน ใช้คำถามจากโมเดลการแบ่งบุคคลทางจิตวิทยาที่น่าเชื่อถือ อย่าง Big Five Personality Assessment และ Toronto Empathy Questionnaire หลังจากนั้น นักวิจัยได้เทียบผลการสำรวจเหล่านี้กับความสำเร็จของแต่ละทีม โดยนักวิจัยได้กำหนด “ความสำเร็จ” ของทีมจากทั้งการวัดผลเชิงคุณภาพ (การประเมินผลโดยผู้บริหารและคนภายในทีมเอง) และปริมาณ (ยอดขายทีมมีส่วนช่วยให้เกิดขึ้นได้) โดยใช้เวลาศึกษากว่าสองปี

สิ่งที่พบไม่เป็นดังที่คาด

จากการจำลองโมเดลทางคณิตศาสตร์ที่ Google ได้ใช้ข้อมูลข้างต้นทั้งหมดนั้น Google ได้ค้นพบความรู้เชิงลึก (insights) ที่น่าตกใจ ว่า ไม่มีคุณสมบัติด้านตัวบุคคลใด ๆ ที่เป็นตัวทำนาย (predictor) ความสำเร็จของทีมที่ดีเลย นั่นหมายความว่า การสร้างทีมที่มีแต่หัวกะทิรวมกัน ไม่ได้การันตีว่าทีมนั้น ๆ จะประสบความสำเร็จมากกว่าทีมที่มีทั้งหัวกะทิและพนักงานที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญระดับปานกลาง (แต่อย่าลืมว่า Google ได้คัดเฉพาะคนที่ไม่ผ่านคุณสมบัติขั้นต่ำที่ Google ต้องการออกไปแล้วในระหว่างกระบวนการจ้างงาน), หรือการสร้างทีมมีรวมคนที่มีบุคลิกเหมือนกันไว้ด้วยกัน เช่น extroverts ไว้ด้วยกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าทีมนั้น ๆ จะประสบความสำเร็จกว่าทีมที่มี introverts อยู่ด้วยกัน, หรือทีมที่มีคนส่วนใหญ่เป็นคนอายุงานมากกว่า (seniors) อาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จมากกว่าทีมอื่น ๆ

ปัจจัยที่ว่า “ใคร” อยู่ในทีมบ้าง ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นสิ่งที่สำคัญในการสร้างสุดยอดทีม

Google ได้ศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของการบริหารจัดการทีม แต่ก็พบอีกว่า ปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการบริหารจัดการทีม ก็ไม่ได้ส่งผล อย่างมีนัยสำคัญต่อความสำเร็จของทีม นั่นหมายความว่า ทีมที่มีผู้จัดการ (managers) ที่ออกตัวทำหน้าที่จัดการงานโดยตำแหน่งอย่างชัดเจน ก็อาจจะไม่ได้การันตีความสำเร็จดีกว่าทีมที่ผู้จัดการใช้วิธีจัดการแบบยืดหยุ่น ไม่ยึดติดกับตำแหน่ง, นอกจากนี้ การที่สมาชิกในทีมตัดสินใจจะทำงานที่บ้านหรือต้องนั่งทำงานร่วมกันในที่เดียวกัน (work-from-home vs. colocation of teammates) ก็ไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญกับความสำเร็จของทีมใน Google

สุดยอดทีม เกิดจากสุดยอดบรรทัดฐานในระดับกลุ่ม

นักวิจัยในแผนก HR ของ Google พบว่า การสร้างบรรทัดฐานในระดับกลุ่ม (group norms) เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสุดยอดทีม ซึ่งประกอบด้วยการสร้างกฎและข้อตกลงร่วมกัน เกี่ยวกับพฤติกรรมและลักษณะการทำงานด้วยกันภายในทีม ซึ่งบรรทัดฐานในระดับกลุ่มที่สำคัญที่สุดที่ Google พบคือสิ่งที่เรียกว่า ความรู้สึกปลอดภัยในเชิงจิตวิทยา (psychological safety) ซึ่งเป็นบรรทัดฐานข้อตกลงว่า หากสมาชิกในทีมกล้าทำอะไรบางอย่างที่มีความเสี่ยง สมาชิกคนนั้นจะไม่ถูกลงโทษหรือถูกมองว่าด้อยความสามารถ

งานวิจัยของ Google ค้นพบว่า “ใคร” (who) อยู่ในทีมบ้าง ก็ไม่ส่งผลต่อความสำเร็จของทีมอย่างมีนัยสำคัญเท่ากับ “บรรทัดฐานกลุ่ม” (group norms) อะไรที่คนในทีมตกลงใช้ร่วมกันบ้าง

นั่นหมายความว่า ในทีมที่มีการสร้างความรู้สึกปลอดภัยในเชิงจิตวิทยา สมาชิกในทีมจะกล้าเสี่ยงที่จะถามคำถามที่อาจจะฟังดูเหมือนคนที่ไม่มีความรู้ในบางหัวข้อ, กล้า “คิดต่าง” และออกความเห็นที่แตกต่างนั้นออกมา ถึงแม้จะเป็นความเห็นส่วนน้อย (minority), กล้าทดลองวิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ เมื่อเผชิญหน้ากับความท้าทาย, กล้าที่จะยอมรับความล้มเหลวหรือความผิดที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการทำงาน เพราะสมาชิกในทีมรู้สึกปลอดภัยจากการถูกลงโทษหรือถูกทำให้อับอายจากการกระทำเหล่านี้

ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ความรู้สึกปลอดภัยในเชิงจิตวิทยา เป็นมากกว่าคุณสมบัติที่ติดตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หากทีมหนึ่ง ๆ มีสมาชิกที่กล้าคิดกล้าแสดงออก แต่มักเป็นคนเดียวที่พูดออกความเห็น ในขณะเดียวกันก็วิพากษ์วิจารณ์ และ “กด” ความเห็นที่ต่างให้ด้อยค่าลง จนสมาชิกคนอื่น ๆ ไม่กล้าเสนอความคิดหรือออกความเห็น ทีมนี้ไม่จัดว่ามีการสร้างความรู้สึกปลอดภัยในเชิงจิตวิทยา

ความรู้สึกปลอดภัยในเชิงจิตวิทยา (psychological safety) เป็นบรรทัดฐานในระดับกลุ่ม (group norms) ที่เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสุดยอดทีม เพราะสมาชิกในทีมจะกล้าเสี่ยงที่จะถามคำถาม, กล้าแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง, และทดลองวิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ เมื่อเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ แม้วิธีดังกล่าวอาจล้มเหลว

ความรู้เชิงลึกที่น่าสนใจนี้ ยังสอดคล้องกับงานวิจัยในด้านจิตวิทยาที่ใกล้เคียงกัน เช่น งานวิจัยของกลุ่มนักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon, M.I.T., และ Union College ที่ศึกษากลุ่มคนอาสาสมัครเกือบ 700 คนและพบว่า ทีมงานที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการทำภารกิจที่มอบให้ได้สำเร็จ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติเด่นรายบุคคล แต่ขึ้นอยู่กับบรรทัดฐานที่ทุกคนในทีมมีร่วมกัน เช่น ให้เวลาสมาชิกในทีมได้ออกความเห็น ระดมสมอง เท่า ๆ กัน และหมั่นสังเกตความรู้สึกของสมาชิกในทีมเพื่อไม่ให้บางคนในทีมรู้สึกแปลกแยกจนไม่อยากมีส่วนร่วม ซึ่งนี่เป็นคุณสมบัติที่สำคัญสองข้อในการสร้างบรรยากาศความรู้สึกปลอดภัยในเชิงจิตวิทยาภายในทีม

นอกจากนี้แล้ว นักวิจัยของ Google ยังพบคุณสมบัติสำคัญอีกหลายประการที่ส่งผลต่อความสำเร็จของทีม ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับการสร้างบรรทัดฐานภายในทีม ดังนี้

  • ความพึ่งพากันได้ (Dependability): สมาชิกของทีมแต่ละคนทำงานเสร็จ และเสร็จตามกำหนดหากสัญญากับสมาชิกในทีมแล้วว่าจะทำเสร็จ (ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญหากงานของทีมมีความซับซ้อนและภารกิจของสมาชิกคนหนึ่งขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของสมาชิกอีกคนหนึ่ง)
  • ความชัดเจนในบทบาท (Structure and Clarity): หากสมาชิกในทีมแต่ละคนเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง และเข้าใจกระบวนการทำหน้าที่นั้นตามความคาดหวังของทีมแล้ว มีแนวโน้มว่าทีมมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น
  • ความหมายของงานที่ทำ (Meaning): “เราทำงานนี้ไปเพื่ออะไร?” ความรู้สึกว่างานที่ทำอยู่มีคุณค่าและเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายอะไรบางอย่างที่ใหญ่กว่าตัวบุคคล เป็นองค์ประกอบสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่เพิ่มแนวโน้มการสร้างทีมที่ประสบความสำเร็จ
  • ผลสะท้อนในวงกว้าง (Impact): “งานของเราส่งผลกับองค์กร ลูกค้า สังคม หรือโลกอย่างไร?” เป็นอีกหนึ่งคำถามที่หากสมาชิกในทีมตระหนักถึงคำตอบร่วมกับความหมายของงานที่ทำ จะสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพภายในทีมได้ดียิ่งขึ้น
5 คุณสมบัติในการสร้างสุดยอดทีม จากการสร้างโมเดลจากคณิตศาสตร์เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล 180 ทีมของ Google (แหล่งที่มาจาก re:Work)

บทสรุป

ในโลกที่การแข่งขันสูงขึ้น งานที่ซับซ้อนและข้ามสายงานมีมากขึ้น การทำงานเป็นทีมจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับองค์กรยุคใหม่ที่จะต้องเน้นการสร้างทีมต่าง ๆ ภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพเพื่อความสำเร็จหรือแม้แต่ความอยู่รอดขององค์กร

แทนที่จะใช้ความรู้สึก การคาดเดา หรือประสบการณ์ส่วนตัวของผู้จัดการไม่กี่คน Google ได้ใช้วิธีที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (data-driven approach) และได้คำตอบแล้วว่า รูปแบบวิธีการใดที่ดีที่สุดสำหรับ Google ในการสร้างสุดยอดทีม (Perfect Team)

แน่นอนว่า งานวิจัยของ Google ในเรื่องการบริหารทรัพยากรบุคคลภายในองค์กร คงยังรุดหน้าไปได้อีกมาก แต่ ณ​ ตอนนี้ การค้นพบว่าคุณสมบัติร่วมและการสร้างบรรทัดฐานภายในทีม (group norms) สำคัญกว่า คุณสมบัติรายบุคคล ในการทำนายแนวโน้มความสำเร็จของทีมนั้น นับเป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง เพราะการค้นพบนี้อาจเป็นบรรทัดฐานในการสร้างทีมสมัยใหม่ ที่ไม่ได้คำนึงเพียงว่า ทีมหนึ่ง ๆ มีแต่หัวกะทิหรือไม่? บุคลิกคล้ายกันหรือไม่? หรือควรมีคนที่ “อาวุโส” ในทีมบ้างหรือไม่?

แม้ว่าวิธีการสร้างทีมของ Google อาจไม่สามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุกองค์กร หน่วยงาน หรือบริษัทอื่น ด้วยลักษณะงานที่ไม่เหมือนกัน และการวัดผลสำเร็จที่ไม่เหมือนกัน แต่ Google ก็ได้แสดงให้เห็นว่า การใช้ประโยชน์จากข้อมูล สามารถสร้างประโยชน์ในระดับมหัพภาคได้ในทุก ๆ แง่มุมของการบริหารองค์กร ที่เหนือไปกว่าการพัฒนาสินค้าและบริการ นั่นคือ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลอย่างยั่งยืน

อ่านเพิ่มเติม

  • ผู้อ่านที่สนใจเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเป็นทีม สามารถอ่านเกี่ยวกับเครื่องมือชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งในการสร้างผลลัพธ์ที่ดีภายในองค์กร คือ Scrum ได้ที่นี่
  • ผู้อ่านสามารถศึกษางานวิจัยของ Google เกี่ยวกับการสร้างทีมเพิ่มเติมได้ใน Project Aristotle จากบทความต่อไปนี้
เนื้อหาโดย ปพจน์ ธรรมเจริญพร
ตรวจทานและปรับปรุงโดย อนันต์วัฒน์ ทิพย์ภาวัต

Former-Editor-in-Chief at BigData.go.th and Senior Data Scientist at Government Big Data Institute (GBDi )

แบ่งปันบทความ

กลุ่มเนื้อหา

แท็กยอดนิยม

แจ้งเรื่องที่อยากอ่าน

คุณสามารถแจ้งเรื่องที่อยากอ่านให้เราทราบได้ !
และเราจะนำไปพัฒนาบทความให้มีเนื้อหาที่น่าสนใจมากขึ้น

PDPA Icon

We use cookies to optimize your browsing experience and improve our website’s performance. Learn more at our Privacy Policy and adjust your cookie settings at Settings

Privacy Preferences

You can choose your cookie settings by turning on/off each type of cookie as needed, except for necessary cookies.

Accept all
Manage Consent Preferences
  • Strictly Necessary Cookies
    Always Active

    This type of cookie is essential for providing services on the website of the Personal Data Protection Committee Office, allowing you to access various parts of the site. It also helps remember information you have previously provided through the website. Disabling this type of cookie will result in your inability to use key services of the Personal Data Protection Committee Office that require cookies to function.
    Cookies Details

  • Performance Cookies

    This type of cookie helps the Big Data Institute (Public Organization) understand user interactions with its website services, including which pages or areas of the site are most popular, as well as analyze other related data. The Big Data Institute (Public Organization) also uses this information to improve website performance and gain a better understanding of user behavior. Although the data collected by these cookies is non-identifiable and used solely for statistical analysis, disabling them will prevent the Big Data Institute (Public Organization) from knowing the number of website visitors and from evaluating the quality of its services.

  • Functional Cookies

    This type of cookie enables the Big Data Institute (Public Organization)’s website to remember the choices you have made and deliver enhanced features and content tailored to your usage. For example, it can remember your username or changes you have made to font sizes or other customizable settings on the page. Disabling these cookies may result in the website not functioning properly.

  • Targeting Cookies

    "This type of cookie helps the Big Data Institute (Public Organization) understand user interactions with its website services, including which pages or areas of the site are most popular, as well as analyze other related data. The Big Data Institute (Public Organization) also uses this information to improve website performance and gain a better understanding of user behavior. Although the data collected by these cookies is non-identifiable and used solely for statistical analysis, disabling them will prevent the Big Data Institute (Public Organization) from knowing the number of website visitors and from evaluating the quality of its services.

Save settings
This site is registered on wpml.org as a development site. Switch to a production site key to remove this banner.