Data Analytics คืออะไร ? และมีอะไรบ้าง ? ทำไมทุกองค์กรถึงให้ความสำคัญ

Data Analytics คืออะไร ? และมีอะไรบ้าง ? ทำไมทุกองค์กรถึงให้ความสำคัญ

19 มีนาคม 2568

“Data is the new oil” เป็นประโยคที่ ไคลฟ์ ฮัมบี (Clive Humby) นักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษพูดไว้เมื่อปี 2006 เปรียบเปรยว่าข้อมูลเป็นเหมือนทรัพยากรที่มีค่าไม่ต่างจากน้ำมัน ถือเป็นคำกล่าวที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของข้อมูลในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะปัจจุบันข้อมูลได้กลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการแข่งขันของโลกธุรกิจยุคใหม่ แต่การมีข้อมูลจำนวนมากแล้วไม่สามารถนำมาใช้งานได้ ก็เหมือนมีแค่น้ำมันดิบ หากไม่ได้ผ่านกระบวนการกลั่นก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นการวิเคราะห์ข้อมูล หรือ Data Analytics จึงเปรียบเสมือนกระบวนการกลั่นที่เปลี่ยนข้อมูลดิบให้เป็นพลังงานขับเคลื่อนธุรกิจ เป็นขั้นตอนสำคัญที่ทำให้เราสามารถนำข้อมูลมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แล้ว Data Analytics คืออะไร ?

Data Analytics คือ กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น AI (Artificial Intelligence), Machine Learning และเครื่องมือ Data Analytics มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาข้อสรุปของข้อมูลนั้น ๆ ถือเป็นการนำข้อมูลที่ได้มา เข้าสู่กระบวนการแสดงค่า หาความหมาย และสรุปผลที่ได้จากข้อมูลนั้น ๆ  ช่วยให้มองเห็นแนวโน้ม โอกาส และความเสี่ยงต่าง ๆ ทำให้สามารถตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลจริงแทนการใช้สัญชาตญาณ หรือประสบการณ์เพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการคาดการณ์อนาคต หาแนวโน้มความน่าจะเป็น แนวโน้มคำตอบ หรือจุดที่ต้องแก้ไข ที่จะสามารถช่วยเสริมศักยภาพทางธุรกิจได้ 

รูปแบบการทำ Data Analytics 

การทำ Data Analytics สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทหลัก ๆ ตามลักษณะและวัตถุประสงค์ ดังนี้

  1. Descriptive analysis คือ การอธิบายข้อมูลในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือการบรรยายข้อมูลในอดีต เพื่อให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานและส่วนใหญ่จะมีเพียงหนึ่งตัวแปร เพื่อนำมาคาดคะเนถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เช่น รายงานยอดขายที่เกิดขึ้นเดือนที่แล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนนี้มีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงเท่าไหร่ ผลงานตาม KPI ที่ตั้งไว้ รายงานผลประกอบการแบบรายเดือน 
  1. Diagnostic analysis คือ การวิเคราะห์หาสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้สิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้น เป็นการหาความสัมพันธ์ของปัจจัยและตัวแปรต่าง ๆ ซึ่งเป็นการลงลึกในรายละเอียดเพิ่มเติมจากข้อมูลแบบ Descriptive analysis ไปจนถึงการตั้งสมมติฐานเบื้องต้นว่าทำไมเหตุการณ์เหล่านี้จึงเกิดขึ้น เช่น ใช้วิเคราะห์ว่าแคมเปญในเดือนที่แล้วช่วยสร้างยอดขายให้โตขึ้นได้อย่างไร หรือ ใช้ในการหาสาเหตุว่าทำไมบริษัทขนส่งจึงจัดส่งสินค้าล่าช้า เป็นต้น
  1. Predictive analysis  คือ การวิเคราะห์เพื่อตอบคำถามว่า อะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต เป็นการทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นด้วยข้อมูลที่มี โดยการนำข้อมูลเหล่านี้มาสร้างแบบจำลองทางสถิติ หรือมีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยสร้างแบบจำลองถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้น เช่น การคาดการณ์ยอดขายในเดือนถัดไปหลังจากออกโปรโมชั่นใหม่ การวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าจากช่องทางต่าง ๆ เพื่อหาช่องทางที่มีโอกาสเปลี่ยนไปเป็นยอดขายได้มากที่สุด
  1. Prescriptive analysis คือ การวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปข้อมูลเพื่อนำไปใช้พัฒนาปรับปรุงรวมถึงวางแผนการทำงาน ซึ่ง Prescriptive analysis จะแสดงให้เห็นว่า เราสามารถใช้ประโยชน์จากผลลัพธ์ที่ผ่านการวิเคราะห์และคาดการณ์ไว้จากข้อมูลที่มีได้อย่างไร เช่น ควรทำการตลาดแบบไหน ออกโปรโมชั่นอย่างไร เพื่อให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายมากกว่านี้

ตัวอย่างเครื่องมือในการทำ Data Analytics (Data Analytics Tools)

  • Microsoft Power BI  เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลที่สามารถใช้นำเสนอข้อมูลเป็นภาพ (Data Visualization)  สร้าง Interactive Visual Reports และ Dashboard ได้อย่างรวดเร็ว สามารถทำงานได้กับแหล่งข้อมูลที่หลากหลายประเภทในเวลาเดียวกัน เช่น Google Analytics, Facebook Analytics, Text Files, SQL servers และ Excel
  • Tableau เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถแปลงข้อมูลปกติให้เป็นข้อมูลเชิงลึกที่สามารถนำไปช่วยในการตัดสินใจเชิงธุรกิจได้ มีประสิทธิภาพดี และสามารถเพิ่มขนาดรองรับข้อมูลที่มีจำนวนมากขึ้นได้ ทำให้เป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมสำหรับธุรกิจทุกขนาด นอกจากนี้ยังมีจุดแข็งในเรื่อง Community ซึ่งมีสมาชิกหลายล้านคนที่สามารถให้คำแนะนำและให้การสนับสนุนได้หากมีปัญหาหรือต้องการคำปรึกษา
  • Python เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลที่เติบโตเร็วที่สุดและเป็นที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากมีชุดของโค้ดที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อให้บริการหรือสนับสนุนฟังก์ชันต่าง ๆ (Library) สามารถประยุกต์ใช้งานที่หลากหลาย ทำให้ Python กลายเป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับนักวิเคราะห์ข้อมูลมืออาชีพ นอกจากนี้ยังมี Community ขนาดใหญ่และแข็งแรง จึงมีคลังทรัพยากรมหาศาลที่เหมาะสำหรับงานวิเคราะห์ข้อมูลแบบต่าง ๆ
  • Looker Studio (Google Data Studio)  เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลฟรีที่ได้รับความนิยม เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับสร้าง Dashboard และแปลงข้อมูลเป็นภาพ จุดเด่นคือสามารถเชื่อมต่อกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของ Google ได้อย่างง่ายดาย เช่น Google Analytics, Google Ads และ BigQuery นอกจากนี้ยังใช้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ โดยอัตโนมัติ เช่น ไฟล์ Google Sheet หรือ Microsoft Excel และที่สำคัญคือใช้งานง่าย 

ความสำคัญของ Data Analytics ในธุรกิจ

Data Analytics ยังเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อน Digital Transformation ในองค์กร เนื่องจากข้อมูลเชิงลึกที่ได้ จะช่วยให้ธุรกิจค้นพบไอเดียหรือโอกาสใหม่ ๆ ในการเพิ่มรายได้ ลดต้นทุน หรือสร้างนวัตกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้องค์กรสามารถปรับตัวและเติบโตได้อย่างรวดเร็วในโลกดิจิทัลที่มีการแข่งขันสูง หลายองค์กรตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ Data Analytics เพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงาน ลองมาดูตัวอย่างของการนำ Data Analytics ไปใช้งานในธุรกิจด้านต่าง ๆ กัน

  1. การตลาดที่มีเป้าหมายชัดเจน (Targeted Marketing)

องค์กรสามารถใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้า ทำให้สามารถสร้างแคมเปญการตลาดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการทำ Personalization ที่สามารถนำเสนอสินค้าหรือบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด

ตัวอย่างเช่น Netflix แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งคอนเทนต์ระดับโลก ได้มีการนำ Data Analytics มาใช้ประโยชน์ในการรวบรวมพฤติกรรมการใช้งานของสมาชิก ด้วยเทคโนโลยี AI ทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับชม ประวัติการดู คำค้นหา หรือผู้คนชอบดูภาพยนตร์และคอนเทนต์แนวไหนมากที่สุด จากนั้นนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมของสมาชิกแต่ละคน เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการแนะนำภาพยนตร์ หรือคอนเทนต์ ที่สมาขิกสนใจจะดูได้ตรงตามความต้องการ

  1. การบริหารจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory Management)

การวิเคราะห์ข้อมูลสามารถช่วยให้บริษัทคาดการณ์ความต้องการของสินค้าและบริหารจัดการสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ลดปัญหาสินค้ามากเกินหรือน้อยเกินไป และช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจ

ตัวอย่างเช่น Amazon แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ชื่อดัง ที่โดดเด่นในการใช้ Data Analytics โดยมีการใช้ Machine Learning และ Artificial Intelligence เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการสั่งซื้อและคาดการณ์แนวโน้ม ทำให้การจัดการสินค้าคงคลังมีความรวดเร็วและแม่นยำ

  1. การวิเคราะห์ความเสี่ยง (Risk Analysis)

การใช้ Data Analytics มาช่วยในการประเมินและจัดการความเสี่ยงในด้านต่าง ๆ จะช่วยให้ธุรกิจสามารถตรวจจับความผิดปกติและป้องกันการฉ้อโกงได้อย่างรวดเร็วจากสัญญาณความผิดปกติจากข้อมูล  ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

ตัวอย่างเช่น บริษัทประกันภัยชั้นนำอย่าง AON ใช้ Data Analytics ในการบริหารจัดการและควบคุมความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการประกัน ซึ่งข้อมูลที่รวบรวมมาจากพฤติกรรมลูกค้าช่วยให้พวกเขาสามารถวางแผนและจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  1. การบริหารพนักงาน (Human Resources)

การใช้ Data Analytics ในการวิเคราะห์ข้อมูลพนักงานสามารถช่วยให้ผู้บริหารตัดสินใจในเรื่องการจ้างงาน การเลื่อนตำแหน่ง การฝึกอบรม และการระบุปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ 

ตัวอย่างเช่น บริษัท Google มีการใช้ HR Analytics เพื่อทำความเข้าใจและปรับปรุงกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับพนักงานทั้งหมด ตั้งแต่การจ้างงานจนถึงการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ทำงานด้วยการสำรวจและการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและข้อมูลจากพนักงาน ในการปรับปรุงกระบวนการต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์กรและสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น

  1. ปรับปรุงกระบวนการทำงาน (Process Optimization)                                                            

การนำ Data Analytics มาใช้ในการวิเคราะห์กระบวนการทำงานหรือขั้นตอนการผลิต จะช่วยให้สามารถค้นพบจุดที่เป็นคอขวด และเพิ่มประสิทธภาพการดำเนินงานได้อย่างเป็นรูปธรรม

ตัวอย่างเช่น Grab แพลตฟอร์มที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้งานผ่านทางแอปพลิเคชันบนมือถือ ทั้งบริการเรียกรถรับส่ง บริการส่งพัสดุ และบริการรับส่งอาหาร มีการใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลการสั่งอาหารของลูกค้า โดยแนะนำร้านอาหารที่ชอบ ร้านอาหารที่มีโปรโมชั่นน่าสนใจ หรือร้านอาหารใกล้บ้าน และประมวลผลสำหรับผู้ให้บริการ Grab เพื่อให้บริการได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

  1. การเข้าใจความต้องการของลูกค้า (Customer Insights)

การวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าจากหลายช่องทาง ทั้งข้อมูลการซื้อ พฤติกรรมการใช้งาน Social Media ทำให้เข้าใจความต้องการ ความชอบและ Pain Points ของลูกค้าได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้สามารถพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงใจลูกค้ามากขึ้นด้วย

ตัวอย่างเช่น McDonald’s แบรนด์อาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีจำนวนสาขาทั่วทุกมุมโลก ก็มีการทำ Data Analytics ในการเก็บข้อมูล เช่น รายการสั่งซื้อ เมนูที่ลูกค้าชอบ และการคอมเมนต์ตามแพลตฟอร์ม Social Media ต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังใช้ AI ในการวิเคราะห์ข้อมูลกลุ่มเป้าหมาย เช่น ที่ตั้งของร้านมีผลต่อการเข้าใช้บริการของลูกค้าหรือไม่ ชุดเซตเมนูอย่าง Happy Meal เหมาะกับลูกค้าประเภทไหนบ้าง หรือเทรนด์การตลาดที่กำลังเป็นกระแส เพื่อทำการตลาดและนำเสนอเมนูที่ลูกค้าชอบ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด

จากตัวอย่างที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า Data Analytics มีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจในยุคดิจิทัล องค์กรที่นำเทคโนโลยีมาวิเคราะห์ข้อมูล จะสามารถใช้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อแก้ปัญหา วางแผนกลยุทธ์ และตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับ Data Analytics จะได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะสามารถเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค คาดการณ์แนวโน้ม และปรับตัวได้รวดเร็ว นอกจากนี้ การเก็บข้อมูลสถิติในกระบวนการทำงานยังช่วยให้ค้นพบวิธีการแก้ปัญหาใหม่ ๆ และเพิ่มประสิทธิภาพในทุกด้าน นี่คือเหตุผลว่าทำไม Data Analytics จึงเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จขององค์กรชั้นนำในยุคนี้

แหล่งอ้างอิง

https://www.g2.com/articles/what-is-data-analytics
https://aws.amazon.com/what-is/data-analytics
https://www.sap.com/resources/what-is-data-analytics
https://www.icslearn.co.uk/blog/human-resources/how-5-successful-companies-are-using-hr-analytics

แบ่งปันบทความ

กลุ่มเนื้อหา

แท็กยอดนิยม

แจ้งเรื่องที่อยากอ่าน

คุณสามารถแจ้งเรื่องที่อยากอ่านให้เราทราบได้ !
และเราจะนำไปพัฒนาบทความให้มีเนื้อหาที่น่าสนใจมากขึ้น

ไอคอน PDPA

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ “นโยบายคุ้กกี้” และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ “ตั้งค่า”

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ประเภทนี้มีความจำเป็นต่อการให้บริการเว็บไซต์ของ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อให้ท่านสามารถเข้าใช้งานในส่วนต่าง ๆ ของเว็บไซต์ได้ รวมถึงช่วยจดจำข้อมูลที่ท่านเคยให้ไว้ผ่านเว็บไซต์ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ท่านไม่สามารถใช้บริการในสาระสำคัญของ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งจำเป็นต้องเรียกใช้คุกกี้ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์และประเมินผลการใช้งาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้ช่วยให้ BDI ทราบถึงการปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้งานในการใช้บริการเว็บไซต์ของ BDI รวมถึงหน้าเพจหรือพื้นที่ใดของเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยม ตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูลด้านอื่น ๆ BDI ยังใช้ข้อมูลนี้เพื่อการปรับปรุงการทำงานของเว็บไซต์ และเพื่อเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้งานมากขึ้น ถึงแม้ว่า ข้อมูลที่คุกกี้นี้เก็บรวบรวมจะเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ และนำมาใช้วิเคราะห์ทางสถิติเท่านั้น การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะส่งผลให้ BDI ไม่สามารถทราบปริมาณผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ และไม่สามารถประเมินคุณภาพการให้บริการได้

  • คุกกี้เพื่อการใช้งานเว็บไซต์ (Functional Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะช่วยให้เว็บไซต์ของ BDI จดจำตัวเลือกต่าง ๆ ที่ท่านได้ตั้งค่าไว้และช่วยให้เว็บไซต์ส่งมอบคุณสมบัติและเนื้อหาเพิ่มเติมให้ตรงกับการใช้งานของท่านได้ เช่น ช่วยจดจำชื่อบัญชีผู้ใช้งานของท่าน หรือจดจำการเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าขนาดฟอนต์หรือการตั้งค่าต่าง ๆ ของหน้าเพจซึ่งท่านสามารถปรับแต่งได้ การปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้อาจส่งผลให้เว็บไซต์ไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์

  • คุกกี้เพื่อการโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้เป็นคุกกี้ที่เกิดจากการเชื่อมโยงเว็บไซต์ของบุคคลที่สาม ซึ่งเก็บข้อมูลการเข้าใช้งานและเว็บไซต์ที่ท่านได้เข้าเยี่ยมชม เพื่อนำเสนอสินค้าหรือบริการบนเว็บไซต์อื่นที่ไม่ใช่เว็บไซต์ของ BDI ทั้งนี้ หากท่านปิดการใช้งานคุกกี้ประเภทนี้จะไม่ส่งผลต่อการใช้งานเว็บไซต์ของ BDI แต่จะส่งผลให้การนำเสนอสินค้าหรือบริการบนเว็บไซต์อื่น ๆ ไม่สอดคล้องกับความสนใจของท่าน

บันทึกการตั้งค่า
ไซต์นี้ลงทะเบียนกับ wpml.org ในฐานะไซต์พัฒนา สลับไปยังไซต์การผลิตโดยใช้รหัส remove this banner.