
“ข้อมูล” เปรียบเสมือนเชื้อเพลิงที่ขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตและก้าวหน้า องค์กรที่สามารถใช้ข้อมูลอย่างชาญฉลาด ไม่เพียงแค่เพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างยั่งยืน การนำแนวคิด Data-Driven มาใช้ในองค์กรคือการเปลี่ยนแปลงก้าวสำคัญ ที่ไม่ใช่เพียงการเก็บข้อมูล แต่เป็นการวิเคราะห์และนำข้อมูลมาสนับสนุนการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ทุกระดับ ตั้งแต่การบริหารงานไปจนถึงการสร้างประสบการณ์ที่ตรงใจลูกค้า
ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปดูกันว่า Data-Driven คืออะไร มีความสำคัญต่อองค์กรอย่างไร พร้อมทั้งบอกเทคนิคการผลักดันองค์กรให้เป็น Data-Driven Organization รวมถึงยกตัวอย่างองค์กรที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ Data-Driven มาขับเคลื่อนองค์กร
Data-Driven คืออะไร?
Data-Driven คือแนวคิดหรือกลยุทธ์ในการใช้ข้อมูล (Data) เป็นศูนย์กลางในการวางแผน ตัดสินใจ ในการดำเนินธุรกิจ หรือจัดการกับกระบวนการต่าง ๆ ขององค์กร โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวางแผน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และลดความเสี่ยงในการตัดสินใจ ข้อมูลที่นำมาใช้งานสามารถเป็นได้ทั้งข้อมูลภายในองค์กร เช่น ยอดขาย สต็อกสินค้า และข้อมูลภายนอกองค์กร เช่น เทรนด์ตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค โดย Data-Driven จะมีลักษณะสำคัญ 3 ข้อ คือ
1. มีการใช้ข้อมูลเป็นหลัก ทุกการวางแผนหรือการตัดสินใจจะต้องอิงจากข้อเท็จจริงที่ได้จากข้อมูล ไม่ใช่การคาดเดาหรือสัญชาตญาณ
2. มีการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ให้ความสำคัญกับการรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อหา Insights ที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ
3. มีการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัยช่วยวิเคราะห์ข้อมูล เช่น AI, Machine Learning, BI Tools เพื่อเพิ่มความรวดเร็วและแม่นยำในการประมวลผล
ทำไมองค์กรยุคใหม่ให้ความสำคัญกับ Data-Driven?
หลังจากโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ด้วยการเกิดโรคระบาด Covid -19 ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกทั้งในระดับบุคคลและองค์กร ท่ามกลางความท้าทายนี้ ธุรกิจและหน่วยงานต่าง ๆ ได้ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของ ข้อมูล เทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยให้การดำเนินชีวิตและการทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น แม้ในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
จากเดิมที่การทำธุรกิจเน้นการคาดการณ์และตัดสินใจบนผลกำไรเป็นหลัก แต่วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป หากขาดข้อมูลและเทคโนโลยี องค์กรอาจสูญเสียความสามารถในการเข้าใจลูกค้าและตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริง การตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลจึงไม่ใช่แค่เครื่องมือ แต่เป็น หัวใจสำคัญของการอยู่รอดและความสำเร็จ โดยประโยชน์ของการนำข้อมูลมาใช้กับองค์กรนั้นครอบคลุมในหลายมิติ ดังนี้
- ช่วยให้ตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง
การใช้ข้อมูลช่วยให้องค์กรตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอิงจากข้อมูลเชิงลึกและข้อเท็จจริง แทนที่จะใช้สัญชาตญาณหรือการคาดเดา นอกจากนี้การวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ช่วยให้ผู้บริหารสามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของตลาดได้ทันท่วงที ทำให้เกิดการวางแผนการตลาดที่ชาญฉลาดและสามารถตัดสินใจได้ว่าจะเลือกดำเนินการโดยใช้กลยุทธ์ใด
- สร้างประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับลูกค้า
องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลจะสามารถเข้าใจลูกค้าได้ดี ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าจากรูปแบบพฤติกรรม ความชอบ และข้อเสนอแนะ ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจความต้องการของลูกค้า และสามารถออกแบบสินค้า บริการ รวมถึงการวางกลยุทธ์ทางการตลาดที่ตอบโจทย์ความคาดหวังของลูกค้า ด้วยการมอบประสบการณ์เฉพาะบุคคล (Personalization) จนสามารถเพิ่มความพึงพอใจและรักษาลูกค้าไว้ได้เช่นเดียวกัน
- เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน
การใช้ข้อมูลช่วยปรับปรุงกระบวนการทำงานจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ทั้งยังช่วยให้สามารถวัดผลการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากองค์กรสามารถจัดการข้อมูลได้อย่างเป็นระบบ ทำให้การทำงานภายในองค์กรมีความราบรื่น สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่มาดำเนินงานทางการตลาด และวัดผลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
- สร้างนวัตกรรมและการเติบโต
การวิเคราะห์ข้อมูลช่วยให้มองเห็นโอกาสใหม่ ๆ ในตลาด เช่น แนวโน้มของอุตสาหกรรม พฤติกรรมผู้บริโภคที่กำลังเปลี่ยนแปลง หรือการใช้ข้อมูลมาสนับสนุนการทดลองเพื่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง
- การคาดการณ์และวางแผนล่วงหน้า
ข้อมูลช่วยให้องค์กรสามารถคาดการณ์ความเสี่ยง วิเคราะห์แนวโน้มตลาด และวางแผนกลยุทธ์ได้แม่นยำยิ่งขึ้น สามารถคาดการณ์ความต้องการล่วงหน้าซึ่งการคาดการณ์ที่แม่นยำจะช่วยลดความสูญเสียและเพิ่มโอกาสในการทำกำไรได้มากยิ่งขึ้น

การผลักดันองค์กรให้เป็น Data-Driven Organization
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้ธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ล้วนขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี การใช้ข้อมูลช่วยให้องค์กรสามารถก้าวนำคู่แข่งได้ สำหรับองค์กรที่ไม่ปรับตัว ไม่สามารถนำข้อมูล และเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้งานได้ อาจเสียโอกาสในการแข่งขัน เพราะขาดข้อมูลเชิงลึกที่จำเป็น ดังนั้นการเปลี่ยนองค์กรให้ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล จึงไม่ใช่เพียงแค่การนำเทคโนโลยีมาใช้ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรและสร้างโครงสร้างที่รองรับการตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูล และนี่คือแนวทางที่องค์กรสามารถนำไปใช้เพื่อก้าวสู่การเป็น Data-Driven Organization ได้สำเร็จ
1. สร้างวัฒนธรรม Data-Driven ในองค์กร
- ปลูกฝังแนวคิด ให้พนักงานทุกระดับเข้าใจถึงความสำคัญของข้อมูลและประโยชน์ที่จะได้รับ
- ผู้นำต้องเป็นตัวอย่าง ผู้บริหารต้องแสดงให้เห็นถึงการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและกระตุ้นให้ทีมงานปฏิบัติตาม
- ฝึกอบรมพนักงาน ให้สามารถเข้าใจและใช้งานข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. รวบรวมและจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบ
- รวมศูนย์ข้อมูล (Data Centralization) จัดเก็บข้อมูลทั้งหมดไว้ในแพลตฟอร์มหรือระบบเดียวที่เข้าถึงง่าย เช่น Data Warehouse หรือ Data Lake
- ปรับปรุงคุณภาพข้อมูล โดยข้อมูลต้องมีความถูกต้อง ครบถ้วน และสามารถนำไปใช้ได้ทันที
- มีนโยบายการจัดการและรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเพื่อป้องกันการรั่วไหล
3. ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่เหมาะสม
- เลือกใช้ซอฟต์แวร์วิเคราะห์ข้อมูล เช่น BI Tools (Power BI, Tableau), AI และ Machine Learning เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลอย่างแม่นยำ
- ใช้ Automation เพื่อลดความซับซ้อนในการจัดการข้อมูล
- ใช้เครื่องมือการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น Hadoop หรือ Spark สำหรับองค์กรที่มีข้อมูลจำนวนมหาศาล
4. ส่งเสริมการใช้ Data-Driven Insights ในการตัดสินใจ
- สร้าง Dashboard หรือรายงานที่นำเสนอข้อมูลให้เข้าใจง่าย เพื่อให้ทุกทีมสามารถใช้ข้อมูลได้ทันที
- มีการตั้งเป้าหมายที่วัดผลได้ โดยใช้ข้อมูลในการกำหนดเป้าหมายและวัดผลลัพธ์อย่างชัดเจน
- กระตุ้นให้ทุกคนในองค์กรหันมาใช้ข้อมูลในการทำงาน เช่น การสร้างระบบให้รางวัลกับทีมงานที่ตัดสินใจหรือวางแผนโดยอิงข้อมูล
5. สร้างทีมงานและโครงสร้างที่สนับสนุน Data-Driven
- แต่งตั้ง Chief Data Officer (CDO) ให้มีผู้นำที่ดูแลด้านข้อมูลโดยเฉพาะ
- จัดตั้งทีม Data Analytics สร้างทีมเฉพาะกิจที่ทำหน้าที่รวบรวม วิเคราะห์ และแปลความหมายของข้อมูล
- สนับสนุนการทำงานข้ามแผนก ให้ทีมต่าง ๆ ภายในองค์กรสามารถทำงานร่วมกันโดยใช้ข้อมูลเป็นตัวกลาง
6. ประเมินผลและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
- ปรับปรุงกระบวนการ อัปเดตเครื่องมือและกระบวนการอย่างสม่ำเสมอเพื่อรองรับข้อมูลที่เพิ่มขึ้น
- วัดผลการใช้งานข้อมูล โดยใช้ตัวชี้วัด สร้าง Dashboard หรือ Report เพื่อวิเคราะห์และประเมินประสิทธิภาพการทำงานอย่างต่อเนื่อง และให้ทุกทีมเข้าถึงข้อมูล ตัวเลขในส่วนนี้ได้ง่าย เพื่อให้ทั้งองค์กรไปสู่เป้าหมายใหญ่ในภาพรวมได้ในที่สุด
การผลักดันองค์กรให้เป็น Data-Driven Organization ต้องอาศัยทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี การสร้างวัฒนธรรมองค์กร และการสนับสนุนจากผู้นำในการวางโครงสร้างที่ชัดเจน รวมถึงส่งเสริมการใช้ข้อมูลในทุกกระบวนการ จะช่วยให้องค์กรสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงและเติบโตได้อย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

ตัวอย่างองค์กรที่ประสบความสำเร็จด้วยแนวคิด Data-Driven
Amazon
Amazon เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่โดดเด่นของการใช้ข้อมูลเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ด้วยการนำข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคมาวิเคราะห์ เช่น
- แนะนำสินค้าที่ตรงใจลูกค้าโดยใช้ Machine Learning ฟีเจอร์การแนะนำสินค้าให้กับผู้ใช้งานตามสิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นสนใจ (Recommendation Engine)
- ปรับแต่งประสบการณ์การใช้งานบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชันให้เหมาะกับลูกค้าแต่ละคน (Personalization)
- เพิ่มประสิทธิภาพของซัพพลายเชน ด้วยการคาดการณ์ความต้องการสินค้าล่วงหน้า
Netflix
Netflix ใช้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อเข้าใจพฤติกรรมการรับชมของผู้ใช้ เช่น
- แนะนำคอนเทนต์ที่ตรงกับความสนใจของผู้ชมแต่ละคน โดยวิเคราะห์จากพฤติกรรมการใช้งานแอปพลิเคชั่น ไม่ว่าจะเป็น การจัดอันดับวีดีโอส่วนตัว (Personalised Video Ranking:PVR) รายการที่กำลังเป็นที่นิยมในขณะนั้น (Trending Now Ranker) การจัดอันเพื่อชมต่อ (Continue Watching Ranker) และ อันดับรายการที่คล้ายคลึง (Video-Video Similarity Ranker)
- พัฒนาซีรีส์และภาพยนตร์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด เช่น การสร้างซีรีส์ยอดฮิตอย่าง “House of Cards” ที่มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลการรับชม
- วางกลยุทธ์การตลาดที่เฉพาะเจาะจงสำหรับกลุ่มเป้าหมาย
Google ใช้ข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เช่น
- การปรับปรุงอัลกอริทึมของ Google Search เพื่อให้ผลการค้นหาตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน
- การพัฒนาโฆษณาแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย (Targeted Ads) ผ่าน Google Ads
- การนำข้อมูลมาพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น Google Maps ที่วิเคราะห์ข้อมูลการจราจรแบบเรียลไทม์
Starbucks
Starbucks ใช้ข้อมูลในการวางแผนธุรกิจและปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า เช่น
- การเลือกทำเลร้านค้า โดยวิเคราะห์ข้อมูลประชากร พฤติกรรมผู้บริโภค และการสัญจร
- การออกแบบโปรแกรม Starbucks Rewards เพื่อมอบข้อเสนอที่ตรงกับความชอบของลูกค้าแต่ละคน
- การคาดการณ์ความต้องการของลูกค้าในแต่ละฤดูกาล เพื่อปรับกลยุทธ์การขาย
Tesla
Tesla ใช้ข้อมูลจากรถยนต์ทุกคันที่เชื่อมต่อกับระบบคลาวด์ เพื่อ
- พัฒนาความสามารถของระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autopilot)
- วิเคราะห์พฤติกรรมการขับขี่ของผู้ใช้งาน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของแบตเตอรี่และระบบต่าง ๆ
- ให้บริการซอฟต์แวร์อัปเดตแบบเรียลไทม์ที่ช่วยเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ โดยไม่ต้องนำรถเข้าศูนย์
Spotify
อีกหนึ่งแคมเปญที่มีชื่อเสียงอย่างมากของ Spotify ที่รู้จักกันในนาม “Spotify Wrapped” ถือเป็นแคมเปญการตลาดสุดโด่งดังที่เริ่มตั้งแต่ปี 2015
- มีการนำข้อมูลของลูกค้าในการฟังเพลงตลอดทั้งปี มาทำเป็น “บันทึกการฟังเพลงประจำปี” ของแต่ละคน
- สามารถแชร์ข้อมูลการฟังเพลงไปในโลกโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลาย
- User ทุกคนสามารถดู Data สรุปพฤติกรรมการฟังเพลงของตนเองในแต่ละปี
จากตัวอย่างที่ยกมา เราจะเห็นได้ว่า Data-Driven คือ แนวคิดสำคัญที่องค์กรชั้นนำระดับโลกนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบททางธุรกิจ เพราะเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิต ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของพฤติกรรมผู้บริโภค “การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล” นอกจากจะช่วยให้องค์กรดึงศักยภาพของข้อมูลออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่แล้ว ยังช่วยให้เราเข้าใจในพฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงช่วยให้แต่ละฝ่ายตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยมีข้อมูลอ้างอิงที่เป็นรูปธรรม และยังช่วยพัฒนาสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้น ไปจนถึงช่วยให้การบริหารองค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้นอีกด้วย
อ้างอิง :
- cheewin.jhttps://temp.bdi.or.th/author/cheewin-j/
- cheewin.jhttps://temp.bdi.or.th/author/cheewin-j/
- cheewin.jhttps://temp.bdi.or.th/author/cheewin-j/19 มีนาคม 2025
- cheewin.jhttps://temp.bdi.or.th/author/cheewin-j/25 กุมภาพันธ์ 2025